ไปวัดทำไม ? ทำไมต้องไปวัด ? ไปวัดเพื่ออะไร ?

วัด คือ แดนบุญ แดนบุญธรรม เป็นสถานที่ศึกษาธรรม
ปฏิบัติธรรม เผยแพร่ธรรม สร้างบุญ สร้างบารมี
สร้างประโยชน์สุข มอบแสงสว่างทางธรรม
ให้แก่โลก แก่สังคม ให้แก่เพื่อนมนุษย์มหาชนทั้งหลาย

วัดเป็นสถานที่อยู่ของหมู่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
อุบาสก อุบาสิกา นักบุญนักบวช ผู้ที่ท่านออกจากเรือน
สละทางโลก ออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์

วัดเป็นสถานที่ ที่ญาติโยมชาวพุทธร่วมกันสร้างขึ้นมา
ถวายไว้เป็นสมบัติของพระศาสนา ถวายแด่พระพุทธเจ้า
ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเจ้าของวัด เจ้าของสถานที่
ถึงจะมีชื่อตามกฏหมายก็ตาม ถือว่าวัดเป็นสมบัติของพระศาสนา
พระภิกษุสงฆ์ และญาติโยม เป็นเพียงผู้ดูแลช่วยกันรักษาวัด
และอาศัยวัดเพียงเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ปฏิบัติซึ่งหน้าที่ของตน
และใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญเพียรศึกษาธรรม
ปฏิบัติธรรม เผยแพร่ธรรม สร้างบุญ สร้างบารมีเท่านั้น

วัดเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของศาสนา
เรียกว่า ศาสนสถาน ไม่ใช่ตัวศาสนา
ตัวแท้ของศาสนา เรียกว่า ศาสนธรรม คือ พระธรรมคำสั่งสอน
ที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว
ส่วนพระภิกษุสงฆ์จัดเป็นศาสนบุคคล

วัตถุประสงค์ในการสร้างวัดขึ้นมานั้น
ก็เพื่อมุ่งหวังตั้งใจให้เป็นสถานที่สำหรับสร้างประโยชน์สุข
ให้แก่โลก แก่สังคม แก่พระศาสนา มอบแสงสว่างทางธรรม
ให้แก่เพื่อนมนุษย์มหาชนทั้งหลาย
เพื่อให้เข้าถึงแก่นธรรม เข้าถึงพระรัตนตรัย
เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ถ้าจะเปรียบก็เปรียบได้กับยานพาหนะ
รถเรือที่จะขนส่งผู้โดยสารไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางข้ามฝากข้ามฝั่งได้

คำว่า ประโยชน์สุขในที่นี่หมายถึง
ความเจริญงอกงามในศีลในธรรม ในบุญกิริยา
มีทาน ศีล ภาวนา และไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตจิตใจของชาวโลกได้เข้าถึง
ซึ่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบ รู้ ตื่น เบิกบาน
ในมรรค ผล นิพพานทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า
และเพื่อให้สังคมโลกเกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ ปลอดภัย

เพราะฉะนั้น หากวัดสามารถทำให้สำเร็จซึ่งประโยชน์ดังกล่าวได้
วัดนั้นก็จะได้ชื่อว่า เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบ
ถูกต้องตามพุทธประสงค์ ที่พระองค์ได้ทรงวางไว้
ทรงสั่งสอนไว้ ได้อย่างแท้จริง

เรื่องการเข้าวัด เป็นเรื่องของศรัทธา
เป็นความเชื่อส่วนบุคคล คนที่มีความเชื่อต่อศาสนา
มีศรัทธาอยู่ในจิตในใจเป็นอย่างดี อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว
ถึงจะเข้าวัดได้ และการที่คนเราจะต้องไปวัด หรือเข้าวัดนั้น
ก็ควรวางท่าทีให้ถูกต้อง ควรรู้เป้าหมาย
รู้วัตถุประสงค์ว่าเราไปวัดกันทำไม? ทำไมต้องไปวัด? ไปวัดเพื่ออะไร?
ควรเข้าใจให้ถูกต้องแต่แรกเริ่ม
เพื่อจะได้สำเร็จประโยชน์สูงสุดในการไปวัดในแต่ละครั้ง

เมื่อสรุปแล้ว การที่เราจะไปวัดในแต่ละครั้งนั้น
ควรมีจิตเจตน์จำนงวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์
และสำเร็จประโยชน์ ๕ ประการดังต่อไปนี้ คือ.-

๑.เพื่อเติมเต็มศรัทธา
๒.เพื่อศึกษาพระธรรม
๓.เพื่อบำเพ็ญประโยชน์
๔.เพื่อหนีโทษกามคุณ
๕.เพื่อต้นทุนนิพพาน

๑.เพื่อเติมเต็มศรัทธา
ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ เป็นตัวจักรสำคัญ
เป็นชนวนแรก เป็นก้าวแรก เป็นประตูบานแรก
ที่จะทำให้ประโยชน์ในส่วนอื่นๆ เกิดดอกออกผล
สำเร็จสมความปรารถนาตามที่ตั้งไว้

หากขาดซึ่งตัวศรัทธาแล้ว ทุกอย่างก็จะจบลงสิ้นสุดลง
หมดความหมายลงทันที ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรก็ตาม
เช่น หมดศรัทธากับระบบองค์กร กับคน
ก็จะทำให้ยกเลิก เลิกสนใจทันที
หากยังมีศรัทธาอยู่ก็ยังไปมาหาสู่ คบค้าสมาคม
เคารพเลื่อมใสกันต่อไป ถึงแม้จะเป็นศรัทธาแบบไหนก็ตาม
ตัวศรัทธาก็ยังเป็นตัวยึดเหนี่ยวไว้อยู่

ศรัทธาที่ทุกคนมีอยู่นั้น ย่อมมีไม่เท่ากัน
บางคนมีศรัทธามาก บางคนมีศรัทธาน้อย
และศรัทธานั้นมีโอกาสที่จะเสื่อมได้

ยกเว้นศรัทธาของท่านผู้ที่บรรลุธรรมแล้วเท่านั้น
ซึ่งจัดว่าเป็นศรัทธาที่มั่นคง เป็นศรัทธาที่ได้มาตรฐาน
เพราะเป็นศรัทธาที่ประกอบแล้วด้วยปัญญาจะไม่มีวันเสื่อมถอย

การไปวัดในแต่ละครั้งนั้น เป็นการประกาศตนในเบื้องต้นว่า
ตนยังคงมีศรัทธาดีอยู่ ยังยอมรับนับถือ ยังเชื่อ ยังเลื่อมใสในคำสั่งสอน
ในหลักธรรม ในพระรัตนตรัย ในบิดามารดา ครูบาอาจารย์อยู่
ยังเชื่อในกรรม ในผลของกรรม ยังเชื่อในบาป บุญ คุณโทษ
นรก สวรรค์ ในศาสนานั้นๆอยู่ และยังเชื่อว่าทำดีย่อมดี ทำชั่วย่อมชั่ว
สวรรค์นรกมีอยู่จริง จึงได้พยายามขวนขวายเพื่อเข้าวัด
เพื่อสร้างกรรมดีกันต่อไป

ศรัทธาจะตั้งมั่น และมั่นคง เจริญงอกงามขึ้นได้นั้น
ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เป็นตัวช่วย ตัวเสริม
เช่น การได้ฟังธรรม ได้สนทนาธรรม และการได้ไหว้พระสวดมนต์
ได้เจริญสมาธิภาวนาอยู่เนื่องๆ ก็จะทำให้เราเกิด
ความรู้ความเข้าใจ เกิดพลังศรัทธาเพิ่มพูนพัฒนาเจริญขึ้นได้
และการได้พบได้เห็นคนอื่นที่เขาพากันทำความดีกันอยู่
เขายังมีความเชื่อกันอยู่ ก็จะเป็นอีกแรงหนึ่งคอยช่วยให้เราเกิดกำลังใจ
เกิดพลังศรัทธา ส่งเสริมศรัทธาในการทำความดียิ่งๆขึ้นต่อไปอีก
และยังเป็นเหตุทำให้ตัวศรัทธาที่เรามีอยู่
กลายเป็นองค์ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาถูกต้อง
ตามหลักธรรม หลักกรรม หลักศาสนา
เปลี่ยนจากศรัทธาที่ไม่มั่นคง เป็นศรัทธาที่มั่นคงได้

การกราบ การไหว้ หรือพิธีกรรมต่างๆ
ในรูปแบบของศาสนพิธีก็ดี การประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ในวัดก็ดี
กฏระเบียบภายในวัดก็ดี เสนาสนะอาคารสถานที่สิ่งแวดล้อมภายในวัดก็ดี
ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาศรัทธา เพิ่มพูนศรัทธาให้มั่นคงไว้ได้เช่นกัน

ตัวศรัทธาเป็นเรื่องของจิตใจของเราล้วนๆ
ในส่วนอื่นนั้นเป็นแค่เพียงส่วนเสริมภายนอกเท่านั้น
แต่ถ้าหากจิตใจไม่เปิดรับ สิ่งภายนอกถึงจะดี
จะมีคุณภาพเลิศแค่ไหนก็ตาม
ก็ยากที่จะช่วยให้ความศรัทธานั้นเกิดขึ้นในจิตในใจได้

หลักศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น
พระพุทธเจ้าท่านทรงวางหลักไว้ว่า
ศรัทธา คือ ความเชื่อนั้น ควรประกอบด้วยเหตุผล ๔ ประการเท่านั้น
จึงจะจัดว่าเป็นศรัทธาที่ถูกดีงาม และต้องปลอดภัยได้ คือ

๑.กรรมสัทธา ความเชื่อในเรื่องกรรม
เชื่อในการกระทำ เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรม
คือ การกระทำนั้นมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรลงไปโดยมีเจตนา
คือ จงใจทำทั้งที่รู้อยู่ ย่อมถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น
คือ เป็นความชั่ว ความดีมีขึ้นในตนทันที ก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป
การกระทำจะไม่ว่างเปล่า สูญเปล่า และเชื่อว่าผลที่เราต้องการนั้น
จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำเท่านั้น

มิใช่ด้วยการอ้อนวอน หรือนอนคอยโชค
แบบหวังผลดลบันดาลก็หาไม่
ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการกระทำทั้งสิ้น
ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดประทานให้

๒.วิปากสัทธา ความเชื่อในเรื่องวิบากกรรม
เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง
คือ เชื่อว่ากรรม คือ การกระทำที่เราทำลงไปแล้วนั้น
ต้องมีผล และผลนั้นต้องมีเหตุ
ผลดีย่อมเกิดจากกรรมดี ผลชั่วย่อมเกิดจากกรรมชั่ว

๓.กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของแห่งกรรมนั้นๆ
และจะต้องรับผิดชอบ เสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน
ที่กระทำไว้แล้วทุกประการ โดยไม่สามารถหลีกหนี หนีพ้นได้
ไม่ช้าก็เร็ว ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า กรรมต้องให้ผลแน่นอน

๔.ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ
ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงพระคุณอันประเสริฐทั้ง ๓ ประการ
คือ พระมหาบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระมหาปัญญาธิคุณ
ทรงตรัสแสดงธรรม และบัญญัติวินัยสั่งสอนไว้ด้วยดีแล้ว
ทรงเป็นผู้นำทาง ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์
ทรงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือ คนเราทุกคนนั้น
หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรม ภูมิปัญญาสูงสุด
บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่างแล้วนั้น.

๒.เพื่อศึกษาพระธรรม
การศึกษาพระธรรม มีวิธีศึกษาได้หลายวิธี
จะฟังธรรมะจากทีวี จากซีดี จากวิทยุ หรือการอ่านหนังสือธรรมะ
หรือค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต
หรือไปเรียนในสถานที่มีการสอนเป็นระบบนั้นก็ได้
ย่อมจะช่วยให้เราเกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของธรรมะได้เป็นอย่างดี
และเมื่อมีความรู้แล้ว ก็นำมาประพฤติปฏิบัติตามที่ตนรู้ ตนเข้าใจ ตนเรียนมา
ก็จะเกิดเป็นผลดีแก่ตนเอง และสังคมสืบต่อไป

วัดในแต่ละวัดนั้น ก็พยายามส่งเสริมในส่วนนี้
มีการพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน แจกซีดีธรรมะ
ก็มีการเทศน์ การสอน การอบรมบ่มเพาะ มีกิจกรรมเสริมบุญ เสริมปัญญา
เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาสู่วัดได้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ในหลักธรรมทางศาสนาของตนให้ยิ่งๆขึ้นไป
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมารวมเรียกว่า การศึกษาธรรมะตามตำรา
ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนอะไรบ้าง
นิยมเรียกกันว่า การศึกษาภาคปริยัติ คือ ศึกษาตามคัมภีร์ ตามตำรานั้นเอง
เปรียบได้กับเรียนรู้เรื่องแผนที่ เรียนรู้เรื่องสูตรอาหาร
เรียนรู้วิธีการนั้นเอง แต่ยังไม่ลงมือเดินทาง ลงมือทำ

ส่วนการศึกษาธรรมะ อีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการศึกษาแบบปริยัติ นั้นก็คือ
การภาวนา ภาวนาแปลว่า การทำให้มี ให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น
นิยมเรียกกันว่า การศึกษาภาคปฏิบัติ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจล้วนๆ
โดยอาศัยความรู้ในตำราที่ได้ศึกษามาดีแล้วนั้น นำมาลงมือยึดถือปฏิบัติตาม
เพื่อให้กิเลสหมดไป ความรู้ในตำรานั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้มากมายแค่ไหนก็ตาม
ถ้าขาดการลงมือปฏิบัติควบคู่ไป ท่านว่าความรู้ธรรมะก็ยังไม่ถือว่าสำเร็จประโยชน์
ยังเป็นความรู้เพียงแค่ด้านเดียว ท่านเรียกว่า เป็นคัมภีร์เปล่า
เปรียบเหมือนมีอาหารอยู่ แต่ไม่ได้รับประทานอาหารนั้น เป็นความรู้ลอยๆ
ยังไม่เกิดประโยชน์เต็มที่เท่าที่ควร
จะมีประโยชน์แค่เพียงสอนผู้อื่นให้รู้ ให้เข้าใจตามได้เท่านั้น
แต่ส่วนตัวนั้นก็แค่รู้จำ ยังทำตามไม่ได้อย่างที่สอนคนอื่น
เข้าตำราที่ว่า รู้หมดแต่อดไม่ได้ ก็คือ มีความรู้แค่ตามตำรา จดจำไว้ได้เท่านั้นเอง

วัดจึงเป็นสถานที่ ที่เหมาะสำหรับการไปศึกษาปฏิบัติ
ไปเรียนรู้ ไปฝึก ไปหัด เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ให้ได้
ในส่วนนี้ เพื่อความสำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติภาวนา
ในแต่ละวัดก็จะมีพระอาจารย์ มีผู้รู้ มีครูคอยให้คำแนะนำ และนำพาปฏิบัติ
แล้วยังมีคนอื่นที่มาร่วมปฏิบัติกับเราด้วย ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้การศึกษาธรรมะ
ในด้านภาวนาของเราก้าวหน้าขึ้น เจริญขึ้น อีกแรงหนึ่ง
เมื่อเราได้ศึกษารู้ดีแล้ว ชำนาญแล้ว เข้าใจดีแล้ว
เราจะนำไปปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เข้าในหลักที่ว่า ไปศึกษาที่วัดแล้วนำมาปฏิบัติที่บ้าน

การปฏิบัติอยู่ที่บ้านนั้นค่อนข้างลำบาก
เพราะมีเรื่องยั่วยวนกวนจิตกวนใจเรามาก
ยิ่งเป็นผู้ใหม่ในการปฏิบัติด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ดีได้

การเข้าวัดก็เหมือนการไปโรงเรียน เด็กนักเรียนย่อมมีความรู้ ความเข้าใจต่างกัน
บางคนเก่ง บางคนไม่เก่ง ก็ขึ้นอยู่ที่ระดับคุณภาพของสติปัญญา
ความตั้งอกตั้งใจ ความสนใจ และความขยันของแต่ละคน
จะให้รู้ได้เท่ากันเทียมนั้นเป็นไม่ได้

คนที่เข้าวัดก็เช่นกัน จะให้ได้บุญ ได้ปัญญาเท่ากัน เป็นคนดีทุกคนนั้น
ก็เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ดีกว่าไม่เข้า ไม่เอา ไม่สนใจเสียเลย

การทำตัวเป็นคนไม่มีวัด ไม่มีศาสนา ไม่เชื่ออะไรเลยนั้น
ก็เป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัย มีโอกาสผิดพลาดได้มาก
เพราะไม่มีหลักยึด ยึดอยู่แค่ทิฏฐิความเห็นของตน.

๓.เพื่อบำเพ็ญประโยชน์
พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงเน้นย้ำเสมอว่า
ชีวิตคนเราที่เกิดมานั้น หาก เกิดมาแล้ว ๑๐๐ ปี แต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย
การเกิดมานั้นก็ขาดทุนเสียเวลาเปล่า
สู้คนที่เกิดมาเพียงไม่กี่วัน แล้วได้ทำประโยชน์ไว้ไม่ได้

การเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่งๆนั้น
ทุกคนควรที่จะได้ทำประโยชน์ให้ครบสมบูรณ์ ๓ ประการ
การเกิดมาจึงจะเรียกได้ว่าไม่เสียชาติเกิด
คือ ประโยชน์ส่วนตน ๑ ประโยชน์เพื่อบุคคลอื่น ๑
และประโยชน์สูงสุดคือ มรรคผลนิพพาน ๑

ในการเข้าวัดแต่ละครั้ง
เราย่อมมีโอกาสที่จะทำซึ่งประโยชน์ทั้ง ๓ ให้ครบสมบูรณ์ได้อย่างดียิ่ง
และยังเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมได้มากที่สุดอีกด้วย
เช่น ในส่วนประโยชน์ตนนั้น ก็ได้ทำบุญกิริยา
ได้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่
และในการไปวัดในแต่ละครั้งนั้น ก็ยังได้มีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุน
บำรุงวัดวาศาสนา รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไว้
และยังได้เป็นกำลังสำคัญช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุ สามเณร
และอุบาสก อุบาสิกาที่ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมภายในวัด
ให้ได้รับความสะดวก สบายในเรื่องปัจจัยสี่
จะได้มีเวลาศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ได้เผยแพร่ธรรมะ
ทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีความกังวลใจ

ส่วนเงินทองที่เราบริจาคทำบุญไปนั้น
ก็ใช้ในการพัฒนาวัด สร้างวัด เพื่อให้เป็นสถานที่
สัปปายะสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มาทำบุญในวัดในโอกาสต่างๆได้ใช้สอย
และบางส่วนก็ได้แบ่งช่วยในการกุศลต่างๆ
ล้วนแต่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขเพื่อบุคคลอื่นทั้งสิ้น
สรุปแล้วก็มีแต่ได้กับได้ไม่มีส่วนเสียเลย

ในส่วนประโยชน์สูงสุด คือ มรรคผลนิพพานนั้น
การที่เราได้ทำในส่วนประโยชน์ตนและคนอื่นอย่างงดงาม ดีงามครบถ้วนดีแล้วนั้น
ก็เท่ากับเราได้ลดละกิเลส ละความเห็นแก่ตัวลงได้อย่างมากไปในตัว
ในส่วนนี้ก็เท่ากับว่าเราได้สร้างเหตุปัจจัย
เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในเรื่องมรรคผลนิพพานได้โดยตรง.

๔.เพื่อหนีโทษกามคุณ
กามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา
เป็นเครื่องผูกมัดรัดรึงจิตใจ ให้เพลิดเพลิน หลงใหลคลั่งไคล้
มีรสอร่อยทำให้คนหลงติด หลงยึดว่าเป็นของดีมีอยู่จริง
เป็นของมีค่ามีคุณ เป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิต รวมถึงทรัพย์สมบัติ ภรรยาสามี
หน้าที่การงาน ลูกหลาน สัตว์เลี้ยง ที่เป็นสมบัติของเรา
ที่เราอุตสาห์หามาสร้างมา เราก็หลงติด หลงยึด หลงเพลิดเพลิน
โดยมีความเข้าใจ และยึดถือกันว่า สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่จะนำความสุขมาสู่ตนโดยส่วนเดียว
สิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่มี ต้องเป็นสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้
ให้ความสำคัญแต่ในสมบัติภายนอกเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญในด้านของจิตใจ
ด้านของธรรมะธรรมโม ด้านที่เกี่ยวกับบุญกุศล เกี่ยวกับวัดวาศาสนา
อันเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขทางใจที่แท้จริงเลย

ในทางศาสนาท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องเหล่านี้
ยอมรับว่ามีส่วนแห่งความจริงอยู่บ้างเหมือนกัน
แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ท่านว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ ให้โทษ ให้ทุกข์ได้มากเหมือนกัน
เช่น ในคราวสูญเสีย พลัดพราก ไม่ได้ดั่งปรารถนาในสิ่งเหล่านั้น ในสมบัติเหล่านั้น
ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ เกิดโทษต่อตัวเรา จิตใจเราได้
อย่างที่พบเราเคยพบเคยเห็นคนทุกข์ คนร้องไห้เสียใจ คนฆ่าตัวตายเป็นต้น

ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนยาพิษที่ใส่ไว้ในผลกล้วย กล้วยนั้นมีรสหวานน่ากินจริงอยู่
แต่ว่าข้างในนั้นมียาพิษซ่อนไว้อยู่ กินไม่ระวังก็เกิดตายได้

เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการขัดเขลาขูดเกลาจิตใจของตน
เพื่อการฝึกปล่อยละ ปล่อยวาง คลายสมมติความยึดติดลงบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมซ้อม
ใจ เพื่อเป็นการทำใจ เพื่อเป็นการป้องกันไว้แต่แรก เพื่อความเข้าใจในสิ่งสมมติ
เราจำเป็นต้องหัดละ หัดปล่อย หัดวาง หัดสละ หัดทิ้งมันบ้าง

เผื่อคราวประสบกับเหตุการณ์ที่ร้ายๆเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน
กับทุกชีวิตไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน เราจะได้ทำใจได้ วางใจเป็น ปรับตัวทัน
ยอมรับความจริงได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีสภาพที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นของเรา เป็นเพียงแค่สมบัติภายนอก
เป็นสิ่งอาศัยชั่วคราว เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมาเท่านั้น
จะได้ไม่หลงยึดติดผูกพันจมปลักอยู่แบบนั้น

มีหลักธรรมข้อหนึ่ง ที่พระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล
ท่านชื่อว่า พระรัฐปาละ ท่านได้ตอบปัญหาเมื่อมีคนถามท่านว่า
เพราะเหตุใดท่านจึงออกบวช ออกปฏิบัตธรรม ท่านคิดอย่างไร ท่านได้ตอบว่า

โลก คือ หมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
โลก คือ หมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
โลก คือ หมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตน ทุกคน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
โลก คือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม
ตกเป็นทาสแห่งความอยากคือตัณหา อยู่ตลอดเวลา

คำตอบที่ท่านตอบก็คือ ความเป็นจริงในชีวิตของคนทุกคน
ท่านเห็นโทษ เห็นสัจธรรมความจริงของโลก ท่านจึงได้ออกบวช ออกปฏิบัติธรรม
แต่บางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในสัจธรรมความจริงส่วนนี้
ทุกลมหายใจก็เลยมีแต่ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น มีแต่ตัวกู ของกูอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นการไปวัด ก็เพื่อจะได้หัดจากตอนเป็นๆ หัดทิ้งตอนเป็นๆหัดจากมันบ้าง
ก่อนที่มันจะจากเรา และเมื่อเราและมันจะจากมันจริงๆทั้งในช่วงที่ตอนเป็นๆอยู่
และในตอนตาย จิตใจจะได้สงบสุข ไม่ทุกข์ทรมานกลัดกลุ้มร้อนรุ่มกลุ้มใจในภายหลัง
อย่างที่เป็นกันอยู่จนมากเกินกว่าเหตุ.

๕.เพื่อต้นทุนนิพพาน
ต้นทุน ก็คือ เหตุปัจจัย คือ บุญกุศล คือ บารมีธรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสย้ำเตือนตลอดเวลาว่า
“เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี” สรุปความก็คือว่า
เราทำอย่างไรก็จะต้องได้อย่างนั้น

การเข้าวัดก็เพื่อเข้าไปอบรมสั่งสมบุญบารมีความดีต่างๆ
เพื่อให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมเติมเต็มสนับสนุนให้เรา
เกิดพลังบุญ มีพลังปัญญา ก่อให้เกิดเป็นวาสนาบารมี
เป็นอุปนิสัยหนุนส่งบ่มอินทรีย์ทางธรรมให้แก่กล้ายิ่งขึ้น
เพื่อการเข้าถึงซึ่งมรรคผลนิพพานให้ได้ เหมือนการบำเพ็ญบารมีธรรม
เพื่อตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า กว่าท่านจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า
กว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้นั้น พระองค์ต้องสั่งสมบุญบารมี
มาหลายภพ หลายชาติ หลายอสงไขย พระอรหันตสาวกก็เช่นเดียวกัน
ท่านก็บำเพ็ญบุญบารมีมาหลายภพชาติเช่นกัน ถึงจะมีวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

คนเราทุกคนก็ล้วนมีสิทธิ์ มีโอกาสที่จะสำเร็จได้ในชาตินี้
หรือในภพชาติต่อไปได้เช่นกัน เราไม่สามารถรู้ได้ว่า
อินทรีย์บารมีธรรมเราแก่กล้าพร้อมหรือยัง บุญบารมีเราใกล้เต็มแล้วหรือยัง
ทางที่ดีที่สุด ก็คือต้องพากเพียรพยายาม หมั่นอบรมบ่มเพาะไปเรื่อยๆ
เพื่อเก็บคะแนน เพื่อสั่งสม เก็บต้นทุน เติมเต็มต้นทุน ทำเหตุปัจจัยไว้ให้สมบูรณ์ไว้ก่อน
เพื่อจะได้เป็นเชื้อสั่งสมไว้ให้มากที่สุด ถือว่าเป็นการดีที่สุด
จะมัวรอให้สำเร็จโดยไม่ลงมือทำอะไรเลยนั้น ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้
ควรรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ให้เร็วที่สุด ดีที่สุด
นั้นคือ ความถูกต้อง นั่นคือ ความปลอดภัย นั้นคือ ความโชคดี

คำว่า นิพพาน เป็นชื่อเรียก ของสภาวะจิตที่ปราศแล้วจากกิเลสตัณหา
เป็นสภาพจิตที่สะอาด สว่าง สงบ บริสุทธิ์ รู้ ตื่น เบิกบาน อิสระสูงสุด
ผู้ที่ท่านเข้าถึงสภาวะนิพพานได้แล้ว จึงจะเรียกได้ว่าเป็นพระอรหันต์
คนเราที่เกิดมานั้นก็ล้วนมีเป้าหมาย
เพื่อความบริสุทธิ์ หลุดพ้น พ้นทุกข์เข้าถึงพระนิพพานกันทุกคน

แต่พอเกิดมาแล้วก็ถูกกิเลสตัณหาหุ้มห่อไว้ ขาดกัลยาณมิตร ติดอยู่ในกามคุณ
ก็เลยละทิ้งเป้าหมายเดิมกันหมด และถ้าหากเราเข้าใจถูกต้อง และแยกแยะได้ว่า
ตัวเรานั้นก็ไม่ใช่กิเลสตัณหา กิเลสตัณหาก็ไม่ใช่ตัวเรา
แต่กิเลสตัณหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะว่า ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
คือ จิตที่เข้าไปยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งต่างๆว่าเป็นของเรา ตัวเรา
จึงเป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสตัณหาขึ้นมาทันที

ถ้าหากเราไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น เข้าใจว่ามันเป็นเพียงสิ่งสมมติ
เป็นสิ่งที่ไม่แน่ แปรเปลี่ยน เป็นไป มันก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในเรื่องของทาน ศีล ภาวนาก็ดี
การปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นแนวทาง แนวธรรม
ที่จะนำพาเราให้ได้เข้าถึงมรรค ถึงผล ถึงพระนิพพานได้ในที่สุด สมปรารถนาทุกประการ.

เมื่อสรุปความตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
การไปวัดในแต่ละครั้ง ควรให้สำเร็จในประโยชน์ทั้ง ๕ ประการ
และก็ควรเลือกวัดที่จะเข้าด้วย
เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ดังกล่าวแล้วนั้นได้อย่างสมบูรณ์ บริบูรณ์ ไพศาล
แก่ตนเองสืบต่อไปทุกภพทุกชาติ.

วัดพระมหาชนก บ้านพลังเพียร
4.4.2015