สวดมนต์ทำไม? ทำไมต้องสวดมนต์? สวดมนต์เพื่ออะไร?

การสวดมนต์ คือ ข้อวัตรอันเป็นหลักใจของชาวพุทธ
เป็นบุญกิจ บุญกิริยาที่ถือปฏิบัติสืบๆ กันมา นับตั้งแต่สมัย
พุทธกาล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ถือกันว่าเป็นเรื่อง
สำคัญของชีวิต โดยเฉพาะในส่วนของพระภิกษุสงฆ์สามเณร
นักบวช นักบุญทั้งหลาย จะให้ขาดตกบกพร่องในข้อวัตร
กิจวัตรส่วนนี้ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าหากละเลย เพิกเฉย ก็ถือกันว่า
เสื่อม ก่อให้เกิดเป็นบาปเป็นกรรม เป็นความไม่บริสุทธิ์ให้แก่
ตนเองและสถานที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม ตลอดถึงโยมญาติมิตร
ที่ถวายความอุปถัมภ์ปัจจัยสี่ อีกทั้งภูมิธรรม ภูมิปัญญา คุณงาม
ความดีบารมีในส่วนอื่นก็เกิดขึ้นได้ยาก

บทสวดแต่ละบทท่านเรียกว่า พระปริตร แปลว่า เครื่อง
คุ้มครองอันประเสริฐ ในบทสวดมนต์แต่ละบทนั้นประกอบ
ไปด้วย บทพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มี
เป็นบทสรรเสริญคุณแห่งพระรัตนตรัยก็มี และเป็นบทอวยชัย
ให้พรก็มี บางบทได้นำมาจากพระไตรปิฎก บางบทเป็นบทที่
ท่านได้แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง ในแต่ละบท แต่ละบาท แต่ละ
คาถานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากพระโอษฐ์ อันประกอบด้วย
พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณขององค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเกิดจากสติปัญญา อันบริสุทธิ์
ยิ่งของเหล่าพระอรหันตสาวก ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น

ในแต่ละคน แต่ละสำนักนั้น มีการถือสวดไม่เหมือนกัน
บางสำนักสวดเฉพาะภาษาบาลีก็มี สวดแบบบาลีแปลก็มี สวด
เฉพาะภาษาของตนที่แปลจากภาษาบาลีก็มี ไม่มีกฎข้อบังคับ
ต่างถือปฏิบัติตามความนิยม และความศรัทธาเชื่อถือ ตาม
ความรู้ ความเข้าใจ ตามมติของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ แต่ละ
สำนักกันไป ไม่ถือว่าท่านผิดเราถูก ขอเพียงสวดแล้ว เกิดมรรค
เกิดผล เกิดกุศล เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ไม่นำพาโทษ
ทุกข์เบียดเบียนตนเอง และคนอื่นให้เดือดร้อน เกิดบาป เกิด
กรรม ก็นับว่าเป็นเรื่องควรแก่การอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่าง
ยิ่ง ส่วนการที่จะสวด หรือไม่สวด จะสวดยาว หรือจะสวดสั้น
หรือจะสวดเวลาไหน บทไหนนั้น ไม่ถือว่าเป็นภาควิชาบังคับ
ขึ้นอยู่ที่สติปัญญา ความถูกจริต และศรัทธาของแต่ละใจ

สรุปความแล้ว การสวดมนต์นั้นมีจิตเจตจำนงวัตถุ
ประสงค์ ท่าที และเป้าหมาย เพื่อให้ได้ เพื่อให้สำเร็จในคุณ
ประโยชน์ ดังต่อไปนี้. –
๑. เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณ
๒. เพื่อเป็นต้นทุนเจริญศรัทธา
๓. เพื่อเป็นการแผ่จิตเมตตา
๔. เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ
๕. เพื่อเป็นการอบรมขันติให้แกร่งกล้า
๖. เพื่อเป็นการรักษาพระธรรม
๗. เพื่อเป็นการกำจัดบาปอกุศล
๘. เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต
๙. เพื่อเป็นการทำจิตให้สว่างไสวเกิดปัญญา
๑๐. เพื่อเป็นการช่วยรักษาโรคภัย
๑๑. เพื่อเป็นเหตุให้ได้สมบัติบุญ

๑. เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณ
บทสวดบางบทที่ใช้สวดนั้น เช่น บทอิติปิ โส ฯลฯ ภควาติฯ
ชาวพุทธในสมัยพุทธกาล ผู้ที่มีจิตเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้านิยม
ใช้สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้ากัน ส่วนที่ท่านแต่งขึ้น
ใหม่ในยุคหลังก็มี นิยมนำเอามาเพื่อสวดสรรเสริญพระคุณของ
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอรหันต์สงฆ์สาวก ผู้ประกอบ
แล้วด้วยพระคุณอันประเสริฐสูงสุด ไม่ใช่เป็นบทอ้อนวอนร้องขอ

ในการไหว้พระสวดมนต์แต่ละครั้งนั้น ท่านเปรียบ
เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์เป็นการแสดง
ตน ปฏิญาณตนยอมรับนับถือ เคารพ ศรัทธา บูชา ขอขมา
ต่อพระองค์อย่างหมดจิตหมดใจอย่างแท้จริง.

๒. เพื่อเป็นต้นทุนเจริญศรัทธา
การสวดมนต์นั้น สวดเพื่อเพิ่มพูน พอกพูน เติมเต็ม
พลังแห่งศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสที่มีต่อคุณพระ
รัตนตรัย ที่ตนได้ยอมรับนับถือ เคารพบูชาเป็นว่าสรณะ
ด้วยศรัทธา ด้วยจิตเจตนาที่บริสุทธิ์ ด้วยความเคารพยำเกรง
ยึดเป็นหลักใจให้มั่นคงมากยิ่งๆ ขึ้นไป
ศรัทธาเมื่อตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้.

๓. เพื่อเป็นการแผ่จิตเมตตา
การสวดมนต์ในแต่ละครั้งนั้น ถือว่าเป็นการแผ่พลัง
เมตตาจิต ผ่านบทสวดมนต์ในแต่ละบท ซึ่งมีความเชื่อว่า เป็น
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง มีฤทธิ์ มีเดช มีอำนาจ มีความบริสุทธิ์
อยู่ในตัว โดยอาศัยบทสวดแต่ละบทนั้นเป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อ
เป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ เป็นสื่อ ส่งสัญญาณ แปรสภาพให้
เป็นพลังงานพิเศษ เหมือนพลังงานทั่วไป ผ่านกระแสเสียง
กระแสจิต จากจิตสู่จิต ก่อให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความรัก
ความปรารถนาดี ความเมตตาปรานี ความสุข ความปลอดภัย
ส่งให้ มอบให้ อุทิศให้ แผ่ให้ ให้แด่เหล่าเทวดา มนุษย์ อมนุษย์
สรรพสัตว์ สรรพวิญญาณทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทั่วโลก
ทั่วจักรวาล ตลอดถึงท่านผู้มีพระคุณ เพื่อนฝูงมิตรสหาย
ครอบครัววงศ์ตระกูล เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เพื่อนร่วมโลก
ร่วมแผ่นดินทั้งมิตรและศัตรู ไม่เลือกชนชั้นวรรณะภาษา ขอให้
อยู่ดีมีสุข ปลอดภัย มีโชค มีชัย สงบร่มเย็น พ้นทุกข์ พ้นโศก
พ้นโรค พ้นภัย ให้ได้ทั่วถึง ทั่วหน้า อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไม่
มีประมาณ สำเร็จได้อย่างฉับพลันทันที.

๔. เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ
การทำสมาธินั้นมีหลายรูปแบบ หลายวิธี การสวดมนต์
ก็เป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้สวดเกิดความสงบได้
เพราะขณะที่สวดนั้น ผู้สวดต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ มีสติดี
สามารถน้อมนึกบทสวดที่จดจำไว้ นำมาสวดได้ไม่ให้ผิด ขณะ
สวดจิตย่อมจดจ่อในบทสวด หรือที่จำไม่ได้ ก็ใช้สายตาเพ่ง
มองตัวหนังสืออ่านบทสวดไปแต่ละอักขระ แต่ละวรรค แต่ละบท
แต่ละตอน จิตในขณะนั้นย่อมรวมตัว ดับความฟุ้งซ่านลง เกิด
เป็นสมาธิได้เป็นอย่างดี.

๕. เพื่อเป็นการอบรมขันติให้แกร่งกล้า
การนั่งพนมมือก็ดี การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับ
เพียบก็ดี เวลาที่ใช้ในการสวดก็ดี ต้องใช้เวลานานพอสมควร
ผู้สวดนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นสูงทีเดียว จึงจะ
สามารถข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะสวดไปจนจบได้ ไม่ใช่
เป็นเรื่องธรรมดา การฝืนกาย ฝืนใจ บังคับกาย บังคับใจ
ในขณะนั้นย่อมทำให้ขันติธรรม คือ ความอดทนแกร่งกล้า
เจริญขึ้น เกิดขึ้น ความอดทนถือว่าเป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก
ในพระพุทธศาสนา

ผู้ที่ไม่มีความอดทน ย่อมไม่ประสบความสุข ความสำเร็จ
ในชีวิตได้ ความอดทนเป็นเครื่องมือเผาผลาญกิเลสบาปอกุศล
ให้หมดไปได้

คุณธรรม คือ ความอดทนจะเกิดขึ้น จะมีขึ้นกลายเป็น
สมบัติใจได้นั้น จะต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะอย่างต่อ
เนื่องเป็นนิตย์ ส่วนการสวดที่ใช้เวลาน้อย หรือสวดพอเป็นพิธี
สวดเพื่อความพร้อมเพรียง สวดเพราะกฎระเบียบที่ตั้งไว้ ก็จะ
เกิดผลดีในด้านอื่นไป แต่ในส่วนขันติธรรมก็จะเกิดขึ้นมาก
น้อยนั้นก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย.

๖. เพื่อเป็นการรักษาพระธรรม
บทสวดมนต์บางบท เป็นพระพุทธพจน์ที่สำคัญ เช่น บท
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่จะ
ต้องจดจำให้ได้ เพื่อรักษาไว้

โดยปกติแล้ว บทสวดมนต์แต่ละบท ที่จะนำมาสวดนั้น
ผู้สวดจะต้องท่องจำให้ได้ขึ้นใจ แล้วนำมาสวดสาธยาย เพื่อ
เป็นการทบทวนอยู่เป็นประจำ เพื่อกันลืม กันหลง กันเสื่อม
การสวดทั้งที่จำได้แล้วสวดก็ดี และการอ่านหนังสือสวดก็ดี
ก็ชื่อว่า เป็นการรักษาพระธรรมคำสั่งสอนไว้ไม่ให้สูญหาย
ลบเลือน เลือนลาง จางหาย สาบสูญได้เป็นอย่างดีเช่นกัน.

๗. เพื่อเป็นการกำจัดบาปอกุศล
ในการสวดมนต์แต่ละครั้งนั้น ย่อมเป็นการช่วยกำจัด
ข่มซึ่งนิวรณ์ธรรม มีกามฉันทะ ความติดในสุข พยาบาท
ความหงุดหงิดไม่พอใจ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน
รำคาญ ถีนมิทธะ ความง่วงซึม หดหู่ วิจิกิจฉา ความลังเล
สงสัย และกำจัดอกุศลธรรมต่างๆ มีความโลภ ความโกรธ
ความหลง ความเห็นผิด ความถือตัวถือตน ความเกียจคร้าน
ให้เบาบางจางหายหมดไปได้.

๘. เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต
มงคล แปลว่า สิ่งที่ดีงาม การสวดมนต์จัดเป็นทั้งบุญ
กิริยา และไตรสิกขา ขณะสวดมีกายวาจาเรียบร้อย มีความ
ระมัดระวังสำรวมดี เรียกว่า ศีล ขณะสวดมีจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น
ตั้งใจสวด สวดด้วยความสงบ เรียกว่า สมาธิ ขณะสวดจิตน้อม
นึกพิจารณาไปตาม เห็นสัจธรรมความจริงของชีวิต เรียกว่า
ปัญญา ขณะสวดเป็นการเจริญเมตตาภาวนา จิตเบิกบาน
เลิกจองเวรจองกรรม ก็จัดเป็น ทาน ขณะสวดมีความเพียร
มีความอดทน มีสัจจะ มีความตั้งใจ จิตห่างออกจากกาม
จิตเป็นกลาง ก็จัดเป็น บารมี

เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลหนึ่ง บุคคลใดได้ลงมือปฏิบัติ
อย่างสม่ำเสมอเป็นปกตินิสัย จนเกิดเป็นอุปนิสัยแล้ว ย่อมก่อ
ให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นมงคลแก่ชีวิต เกิดพลัง นำซึ่ง
ความสุข ความเจริญมาสู่ตนเอง และครอบครัววงศ์ตระกูล
เพื่อนฝูงมิตรสหาย หน้าที่การงานได้อย่างแน่นอนโดยไม่ต้อง
สงสัย.

๙. เพื่อเป็นการทำจิตให้สว่างไสวเกิดปัญญา
ชีวิตคนเรานั้นประกอบด้วยกาย และจิต กายเป็นส่วน
แห่งรูปธรรม จับต้องได้ มองเห็นได้ ส่วนจิตใจนั้นจัดเป็นนาม
ธรรม มีความเป็นใหญ่ เป็นนายในชีวิตคนเรา จิตที่เศร้าหมอง
จิตที่มีแต่ความวิตกกังวล จิตที่คิดมาก จิตที่พยาบาทโหดร้าย
จิตที่อิจฉาริษยา คือ สภาพของจิตที่ไม่ดี เป็นจิตที่อ่อนแอ ชอบ
รับเอาแต่เรื่องไม่ดีมาเก็บไว้ ชอบคิดแต่เรื่องร้ายๆ มองโลกใน
แง่ร้าย จดจำแต่เรื่องทุกข์ เป็นเหตุทำให้จิตไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์
มีสภาพมืดมน พร่ามัว ขุ่นมัว ขาดพลัง เป็นจิตเถื่อน จิตหยาบ
ยากที่จะมีความสุขได้ เป็นจิตที่ทุกข์ง่าย สุขยาก อยู่ที่ไหนก็ไม่มี
ความสุข ได้อะไรมาก็ไม่มีความสุข

การสวดมนต์ เป็นวิธีที่จะช่วยชำระชะล้าง ทำความ
สะอาด ความสกปรกรกใจที่ตกตะกอนนอนเนื่องแปดเปื้อนอยู่
ในจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ สว่างไสวได้ กลายเป็น
จิตที่สุขง่าย ทุกข์ยาก อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ มีความสุขทุกเวลา
ส่วนจิตใจที่สะอาดดีแล้ว บริสุทธิ์แล้ว เมื่อสวดมนต์ ก็ยิ่ง
จะช่วยให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปอีก จิตที่มีสภาพ
ที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ คือ จิตที่สว่างไสว เป็นจิตที่มีพลัง
มีปัญญา ย่อมนำพาพัฒนาชีวิตตนเอง และบุคคลอื่นให้มีความสุข
ความเจริญได้.

๑๐. เพื่อเป็นการช่วยรักษาโรคภัย
ผลแห่งการวิจัย ตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ดี ทางการ
แพทย์ก็ดี ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ กับผู้ที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลก็มี
ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า การสวดมนต์นั้นสามารถช่วย
บำบัด ช่วยรักษา ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ยิ่งโรค
ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกับสภาพจิตใจยิ่งได้ผลดีมาก แม้กระทั่ง
อุปสรรค เคราะห์กรรม ปัญหาชีวิตก็ช่วยให้ผ่านพ้นได้ด้วยดี

มีข้อควรสังเกตว่า คนที่ชอบสวดมนต์อยู่เป็นประจำนั้น
เวลามีทุกข์ ประสบปัญหาชีวิต มักจะมีทุกข์ มีปัญหาอยู่ไม่นาน
นัก ทุกข์และปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะจบลงคลี่คลายลง มีทาง
แก้ไข ทางออกได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากคนที่ไม่ชอบสวดมนต์
ทุกข์ก็จะทุกข์อยู่นานหาทางออกไม่ได้.

๑๑. เพื่อเป็นเหตุให้ได้สมบัติบุญ
สมบัติที่กล่าวนี้ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สมบัติ คือ แก้ว
แหวน เงิน ทอง เรือกสวน ไร่นา รถรา บ้านเรือนแต่อย่างใดไม่
แต่หมายถึง อริยทรัพย์ อริยสมบัติ มีมนุษย์สมบัติ สวรรค์
สมบัติ นิพพานสมบัติ อันเป็นเป้าหมายของทุกคนที่เกิดมาเป็น
มนุษย์ พบพระพุทธศาสนาจะต้องขวนขวายแสวงหา สร้าง
บำเพ็ญให้เกิดมีขึ้นในชีวิตของตนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่
ในวัฏสงสารนี้ ชีวิตที่เกิดมา หรือจะไปเกิดทุกภพ ทุกภูมิ
ทุกชาติ ควรให้ได้แต่สิ่งที่ดีๆ พบแต่สิ่งที่ดีๆ อยู่แต่ใน
สิ่งแวดล้อมที่ดีๆ สภาพความเป็นอยู่ที่ดี เหมือนเลือกเกิดได้
จะได้ไม่พลาดตกไปอยู่ในภพภูมิที่ไม่ดี สภาพไม่ดี สิ่งแวดล้อม
ที่ไม่ดี เช่น ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
คนทุกข์ คนยาก ลำบากพิการ อัตคัด ขัดสน ยากจน เข็ญใจ
ไร้ที่พึ่งพาพึ่งพิง

การสวดมนต์ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นช่องทาง
นำพาเราให้ได้มาซึ่งสมบัติทั้ง ๓ อย่างแน่นอน
ส่วนสมบัติ คือ แก้ว แหวน เงินทองนั้น ล้วนแต่เป็นของ
แถมที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ไม่เกิดขึ้นก็ได้ ไม่ควรตั้งความ
ปรารถนาให้เกิดขึ้นจากการสวดมนต์ เพราะจะเป็นการสวด
ที่ผิดหลักบุญ หลักกุศล หลักธรรม หลักกรรม

ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ ในขณะสวดก็ดี สวดแล้วก็ดี ควรตั้ง
อกตั้งใจ ทำด้วยความเชื่อ ความจริงใจ เต็มใจ พอใจ สุขใจ
ดีใจ ภูมิใจ สวดให้เกิดความสงบ ความสุข เกิดเป็นบุญเป็น
กุศล เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาตามวัตถุประสงค์ดังที่กล่าว
แล้วข้างต้นก็พอ เรื่องอื่นๆนั้น ย่อมจะเกิดขึ้น มีขึ้น เกิดดอก
ออกผลตามมา ขอเพียงทำเหตุปัจจัยให้ดี ให้ถูกต้อง ท่านกล่าว
ไว้ว่า ผู้มีบุญ ผู้มีปัญญา ย่อมประสบแต่ความโชคดี และ
หาทรัพย์มาได้โดยง่ายแล.

วัดพระมหาชนก บ้านพลังเพียร
4.1.2015