มงคลแท้ มงคลธรรม มงคลโลก มงคลชีวิต


พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบปัญหาแก่เทวดา
ถึงมงคลแท้ มงคลธรรม มงคลโลก มงคลชีวิต
อันเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้โชคดีมีสุข หมดทุกข์หมดปัญหา
นำมาซึ่งความเจริญ ความสำเร็จ ความสงบร่มเย็น
ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินสมบัติ
ทั้งทางโลก ทางธรรม ทั้งโลกนี้ และโลกหน้าไว้ ๓๘ ประการ

๑.
อะเสวะนา จะ พาลานัง
หลบหลีก หลีกเว้น ไม่ยุ่งเกี่ยว ข้องเกี่ยว
เลิกคบค้าสมาคม เลิกรับรู้ข่าวสาร
งดการติดต่อกับสังคมของคนพาลนิสัยไม่ดี ให้เด็ดขาด.

๒.
ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
คบค้าสมาคม ติดต่อ ติดตาม รับรู้ข่าวสาร
ร่วมงาน ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญ ร่วมใจ
ร่วมมือกับสังคมของผู้รู้ คนดี คนบุญ.

๓.
ปูชา จะ ปูชะนียานัง
ยอมรับ นับถือ เคารพ บูชา ให้เกียรติ
ต่อคนที่มีคุณธรรม ที่คอยให้สติ ให้ปัญญา
และบุคคลที่มีคุณ มีค่าต่อโลก ต่อสังคม.

๔.
ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ
แสวงหาที่อยู่ที่อาศัยในถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี
ยินดี และทำความพอใจ ในสิ่งที่ตนได้ ในสิ่งที่ตนมี
ในสิ่งที่ตนเป็น และมีชีวิตเป็นอยู่อย่างพอเพียง สมถะ
ปรับตัวปรับใจให้เข้ากับภูมิประเทศ และสังคม.

๕.
ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
ทำความดีให้มีพร้อมไว้ก่อน เก็บคะแนนบุญ
หมั่นสั่งสมคุณงามความดีไว้ และน้อมระลึกนึกถึงความดี
ที่ตนเคยได้ทำไว้แล้วอยู่เนื่องๆเป็นนิตย์.

๖.
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ
ไม่ประพฤติตนนอกลู่นอกทาง ขวางโลก ขวางธรรม
ทำตนให้เป็นคนที่น่าไว้วางใจ น่าเคารพ น่าเชื่อถือ
รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เคารพกฏหมายบ้านเมือง
เคารพต่อกฏกติกาของประเทศ ของสังคมนั้นๆ.

๗.
พาหุสัจจัญจะ
เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษา
ค้นคว้าหาวิชาความรู้ทั้งทางโลก ทางธรรม
ที่จะนำพาตนไปสู่ความสุข ความเจริญ
ความสงบแห่งชีวิตจิตใจ.

๘.
สิปปัญจะ
แสวงหาวิชาความรู้ ฝึกฝน ปรับปรุง
เรียนรู้ ให้เชี่ยวชาญ ชำนาญในวิชาอาชีพต่างๆ
เพื่อนำมาพัฒนาตน และปรับใช้ในชีวิต.

๙.
วินะโย จะ สุสิกฺขิโต
ฝึกมารยาทตามแบบฉบับของผู้ดีทางธรรม
ฝึกนิสัยให้เป็นคนที่มีระเบียบเรียบร้อย
งดงาม สะอาดสะอ้าน ทั้งในเรื่องส่วนตัว และสังคม

๑๐.
สุภาสิตา จะ ยา วาจา
รู้จักพูดในสิ่งควรพูด และในที่ที่ควรพูด มีศิลปะในการพูด
พูดด้วยศีลด้วยธรรมด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ปากกับใจตรงกัน
จะพูด จะเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ
ก็ให้เป็นเรื่องที่เป็นแก่นสารสาระสร้างสรรค์ต่อโลก ต่อสังคม
ไม่นินทา ว่าร้าย ป้ายสีใคร ไม่ดีแต่พูด ไม่พูดเอาดีใส่ตัว
พูดอวดตัว พูดเกินจริง มีสติก่อนพูด ไม่พูดปดมดเท็จ.

๑๑.
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
ดูแลเอาใส่ใจ ให้ความรัก ความอบอุ่น เลี้ยงดู
เยี่ยมเยียน ให้ความเคารพ บูชาสักการะ ระลึกถึงคุณ
มีกตัญญูรู้คุณ ตอบแทนคุณต่อพ่อแม่
ต่อท่านผู้มีพระคุณ ผู้มีอุปการะคุณ.

๑๒.
ปุตตะสังคะหะ
ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดี แบบอย่างที่ดี
ให้การศึกษา ให้สติปัญญา ให้ความช่วยเหลือ
ให้โอกาสดีๆแก่เด็ก แก่เยาวชน และบุตรหลาน
เพื่อให้เขาได้เป็นคนดีของสังคม และสามารถพึ่งพาตนเองได้.

๑๓.
ทาระสังคะหะ
มีความซื่อสัตย์สุจริตใจ ไม่ประพฤตินอกใจ
ไม่นำเรื่อง นำปัญหามาให้ นำแต่ความสบายอกสบายใจ
ความภาคภูมิใจมาให้ ให้ความไว้วางใจ
ให้ความสำคัญ ให้เกียรติ มีความรับผิดชอบต่อบุคคล
ในครอบครัวตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย.

๑๔.
อะนากุลา จะ กัมมันตา
ไม่เป็นคนเกียจคร้าน งานหนักไม่เอา งานเบาไม่สู้
รู้จักหน้าที่ของตน และทำตามหน้าที่ของตน
ที่ตนได้รับมอบหมายแล้ว และที่ตนรับผิดชอบแล้วให้ดีที่สุด
เต็มความรู้ ความสามารถ ไม่ปล่อยทิ้ง ปล่อยขว้าง
ให้คั่งค้างเสียงาน เสียเวลา ให้สำเร็จทันงาน ทันเวลา
สมบูรณ์ เรียบร้อย ครบถ้วนบริบูรณ์.

๑๕.
ทานัญจะ
รู้จักให้ รู้จักเสียสละ แบ่งปัน แจกจ่าย ช่วยเหลือ
เกื้อกูล สนับสนุน ส่งเสริม กรุณาต่อโลก
ต่อสังคม ต่อบุคคลด้วยเมตตาไมตรีจิตมิตรภาพ
โดยไม่หวังผล และหวังสิ่งตอบแทน.

๑๖.
ธัมมะจะริยา จะ
เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนมีศาสนา
มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักความดีความถูกต้อง
และปฏิบัติตามหลักธรรมในหลักศาสนาของตน.

๑๗.
ญาตะกานัญจะ สังคะโห
มอบความรัก ความห่วงใย กำลังใจ ติดต่อ
ไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียน ช่วยเหลือ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
สงเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงดงามจากใจจริงต่อญาติมิตร
มีสุขร่วมสุข มีทุกข์ร่วมเสพ มีภัยช่วยแก้ไข.

๑๘.
อะนะวัชชานิ กัมมานิ
ประหยัดอดออม และประกอบอาชีพที่สุจริต
ที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ ผิดกฏหมายบ้านเมือง
และทำคุณประโยชน์ให้แก่โลก แก่สังคม
ไม่ทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้เสื่อมเสีย.

๑๙.
อาระตี วิระตี ปาปา
ไม่ทำ ไม่นำ ไม่เริ่ม ไม่คิด ไม่ชักชวน ยุยง
ก่อกวน รบกวน เบียดเบียนให้ตน ให้คน
ให้โลก ให้สังคมเป็นบาป เป็นกรรม
เดือดร้อน วุ่นวาย สับสน หวาดกลัว งมงาย หลงผิด.

๒๐.
มัชชะปานา จะ สัญญะโม
รู้จักการกิน การอยู่ที่ไม่ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษ
และเลิก ลด ละ งดเว้นจากสิ่งเสพติดทุกชนิด
อบายมุขทุกชนิดทุกประเภท.

๒๑.
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ
ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทขาดสติ ไม่หลุ่มหลง
มัวเมา เพลิดเพลิน หลงระเริงในโลกโลกีย์
จนเสียเงิน เสียของ เสียทอง เสียงาน เสียคน เสียเวลา
เสียชื่อเสียงเกียรติยศ เสียสติปัญญา เสียสังคมหมู่คณะ.

๒๒.
คาระโว จะ
เคารพในภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา
เคารพในความเชื่อ ความศรัทธา เคารพในกฏกติกา
และวัฒนธรรมประเพณีของโลกของสังคม
เป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ
รู้จักให้ความสำคัญ และความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสมชอบธรรม.

๒๓.
นิวาโต จะ
เป็นคนที่มีกิริยามารยาทที่งดงาม
อ่อนน้อมถ่อมตน ยอมเชื่อ ยอมฟัง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
ลดมานะทิฏฐิ ไม่เสแสร้ง แสดงมารยาสาไถย ดัดจริต.

๒๔.
สันตุฏฺฐี จะ
มีความสันโดษ พอใจ สุขใจ อยู่เย็นเป็นสุข
อิ่มอกอิ่มใจ ในสิ่งที่ตนได้ ในสิ่งที่ตนมี
ในสิ่งที่ตนเป็น ที่เกิดขึ้นแล้วจากน้ำพักน้ำแรง
ด้วยความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
ยอมรับในโอกาสวาสนาชะตาชีวิตของตน
ไม่เอาชีวิตตนไปเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่น
จนเป็นเหตุให้ทุกข์ท้อถดถอย เสียอกเสียใจ.

๒๕.
กะตัญญุตา
มองโลกในแง่ดี รับรู้มองดูแต่ส่วนที่ดีของคนอื่น
สำนึกในความดีของคนอื่น บูชาในความดีของคนอื่น
ชื่นชมพลอยยินดีในความดีของคนอื่น
มีโอกาสรีบประกาศคุณความดี
และตอบแทนคุณ สนับสนุน ส่งเสริม เติมเต็ม.

๒๖.
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง
หาโอกาสฟังธรรม แสวงหาความรู้
เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงามในทางธรรม
เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ ต่อจิตใจ
และรู้จักแยกแยะข่าวสารดีชั่วทุกข์โทษ
ใคร่ครวญพิจารณาในที่ฟังมา ไม่หูเบาหลงเชื่อง่าย
และสามารถปล่อยวางในสิ่งที่ไร้สาระที่ได้ฟังมา รับรู้มา.

๒๗.
ขันตี จะ
มีความอดทน อดกลั้น ควบคุมตน
ไม่ทำอะไรเอาแต่ใจตน ตามอารมณ์ตน
รู้จักปรึกษาหารือคนอื่นบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจ
ฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุมีผล ฝึกความอดทน อดกลั้น
ฝึกการข่มจิตข่มใจไม่วู่วาม ไม่ด่วนสรุป ด่วนได้
บวกลบคูณหารให้ดี อย่ารีบด่วนตัดสินใจ
อย่าสรุปอะไรเร็วเกินไป หลงอะไรเร็วเกินไป ฟังหูไว้หู.

๒๘.
โสวะจัสสะตา
ยอมรับ ยอมปฏิบัติตามในคำแนะนำสั่งสอน คำตักเตือน
ด้วยความเต็มใจ ไม่ดื้อรั้น ต่อต้าน คัดค้าน อวดดี ถือดี
เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย พูดกันง่าย ยอมรับฟังเหตุผล.
๒๙. สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
มีความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา
เคารพต่อสมณะ นักบวช นักบุญ ผู้มีศีล มีธรรม
เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ให้ความอุปถัมภ์ ช่วยเหลือ สนับสนุน
และก้มกราบไหว้บูชาได้อย่างเต็มมือ สนิทใจ.

๓๐.
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา
สนทนา สอบถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง
ความคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์สุข
เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนอบรม
เพื่อเป็นแนวทางนำตนให้ได้สติ เกิดปัญญา
นำพาตนให้พ้นทุกข์ พ้นกรรม.

๓๑.
ตะโป จะ
มีความเพียรเผากิเลส รู้จักบังคับควบคุม ข่มใจ
หักห้ามใจ ไม่ปล่อยกายปล่อยใจ ไม่ปรนเปรอตนตามใจอยาก
หมั่นไหว้พระสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา เข้าวัดเข้าวา เข้าโบสถ์
หาเวลาไปปฏิบัติธรรม ตามวัด ตามศูนย์ปฏิบัติ
ที่ตนเชื่อว่าสอนถูกต้อง ถูกกับจริตของตน.

๓๒.
พรัหมะจะริยัญจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ ดำเนินตามอริยมรรค
การรู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้หลงไหล
ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรื่องยั่วยวนกวนใจก่อกิเลส
งดเว้น ถอยห่าง ออกห่างจากการละเล่นสนุกสนานเฮฮา
การดูหนัง ดูละคร ร้องรำทำเพลง กิน เที่ยว สังสรรค์ เฮฮา
ที่เป็นเหตุให้เสียเงินเสียทอง เสียเวลาเกินความจำเป็น
สิ้นเปลือง เดือดร้อนคนใกล้ตัวโดยใช่เหตุ.

๓๓.
อริยะสัจจานัง ทัสสะนัง
อบรมปัญญาให้รู้แจ่มแจ้ง ชัดเจน หมดสงสัย
ในธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิต
และเข้าใจในกฏของธรรมชาติในส่วนใดบ้างว่า
เป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรละ ควรเข้าถึง ควรยึดถือปฏิบัติ.

๓๔.
นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ
ควบคุมกิเลส ลดละกิเลส ดับกิเลสให้หมดไปสิ้นไป
บำเพ็ญเพียรทางจิต ทำพระนิพพานให้แจ้ง ดับทุกข์ให้ได้สิ้นเชิง.

๓๕.
ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
จิตไม่หวั่นไหว ตกใจ เพลินเพลิด ตื่นเต็น ตื่นตูม
ต่อการได้ การดี การมี การเป็น ทั้งในคราวได้ คราวเสีย
ในสุข ในทุกข์ ในลาภ ในยศ ในชื่อเสียง นินทา สรรเสริญ
ควบคุมใจไม่ให้เกิดอาการฟู่ อาการแฟบ ชอบชัง ยินดี ยินร้าย ยึดติด.

๓๖.
อะโสกัง
ฝึกการปล่อยละ ปล่อยวาง ยอมรับความจริง
เลิกคิด หยุดคิด ในเรื่องที่ทำใจให้โศกเศร้า
เศร้าหมอง เร่าร้อน หงุดหงิด เสียอก เสียใจ เป็นทุกข์.

๓๗.
วิระชัง
ขูดเขลา ขัดเกลา รักษา พัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์
อยู่เหนือกิเลสตัณหา ความโกรธ ความโลภ ความหลง
กิน กาม เกียรติ อาฆาต พยาบาท จองเวร จองกรรม.

๓๘.
เขมัง
ทำจิตใจให้ปราโมทย์ ปีติ อิ่มเอิบ สว่างไสว บริสุทธิ์
สะอาด สว่าง สงบ รู้ ตื่น เบิกบาน อิสระให้ได้ทุกเวลา ทุกขณะ.

วัดพระมหาชนก บ้านพลังเพียร
3.13.2015