บทกวี พุทธประวัติ

น้อมบูชา ขอขมาต่อ
คุณพระพุทโธ พระธัมโม พระสังโฆ ๑
คุณท่านพ่อครูศรีปราชญ์ ท่านพ่อครูสุนทรภู่ ๑
คุณนักปราชญ์ราชบัณฑิตในทิศทั้งแปด ๑
คุณพระอุปัชฌาย์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ๑
คุณแห่งค่าข้าวน้ำปัจจัยสี่ของโยมญาติมิตร ๑
คุณแห่งพรหมวิหารธรรม บารมีธรรมของกัลยาณมิตร
นักบวช นักบุญ ผู้มีศีล มีธรรมทั่วโลกทั่วจักรวาล ๑
คุณเทวดาฟ้าดิน คุณแผ่นดิน แผ่นน้ำ คุณธาตุทั้งสี่ทุกภพทุกภูมิ ๑

เหตุ-ปัจจัย

–๏–

๏ พุทธประวัตินี้                            มีมา
ในพระบาลีคาถา                           กล่าวไว้
หากได้อ่านศึกษา                          ค้นทั่ว แล้วนา
ย่อมเกิดปัญญาไซร้                       แจ่มแจ้งถึงใจ ๚ะ

๏ ในตำราแต่งไว้                           เรียบเรียง
เหล่านักปราชญ์เทียบเคียง            แต่งแต้ม
คือแสงแห่งตะเกียง                       ช่วยส่อง สว่างนา
ชี้ช่องทางเปิดแย้ม                         กล่าวไว้อย่างดี ๚ะ

๏ บทกวีที่แต่งขึ้น                          พรรณา
หากมากด้วยปัญญา                       แต่งไซร้
อาจส่งสื่อภาษา                             ชี้บอก ชัดนา
แต่ที่แต่งแต้มไว้                            แค่นี้มันสมอง ๚ะ

๏ นึกอยากลองบอกชี้                   เส้นทาง
อาจช่วยเกิดแสงสว่าง                   พบได้
เปิดแผนที่ออกกาง                        ชี้บอก ทางนา
ค่อยค่อยเดินพบป้าย                     สู่เป้าที่หมาย ๚ะ

๏ ลายแทงบอกชัดแล้ว                 ขุมทอง
ขาดแต่สายตามอง                         ขุดค้น
ทุกสิ่งหากใตร่ตรอง                      อาจพบ ค่านา
กวีแค่จุดเริ่มต้น                              ช่วยชี้ทางไป ๚ะ

๏ นั่งอยู่ใต้ร่มไม้                            โพธิ์แก้ว
เพียรแต่งบทกวีแล้ว                      ค่ำเช้า
ผิดถูกฝากเป็นแนว                        ช่วยแต่ง เติมนา
ชี้บอกจดใส่เกล้า                           เพิ่มเนื้อปรับขยาย ๚ะ

๏ เป้าหมายเพื่อบอกชี้                   ศรัทธา
เล่าเรื่ององค์ศาสดา                       เอกไว้
เทียบเคียงจากตำรา                       ท่านกล่าว ไว้นา
เปลี่ยนรสเป็นกวีไซร้                    มอบให้ของขวัญ ๚ะ

๏ หากท่านอ่านทั่วแล้ว                เบิกบาน
จิตเกิดกุศลญาณ                            ผ่องแผ้ว
จงแจกจ่ายเป็นทาน                       บอกต่อ กันนา
หากเกิดพลังบุญแล้ว                     แบ่งให้ทุกคน ๚ะ๛

พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
นิพพานะปัจจะโย โหตุ
พุทโธ อโหสิ ธัมโม อโหสิ สังโฆ อโหสิ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ

๑.
ว่าด้วย : มโนปณิธาน และการจุติ

–๏–

๏ สุเมธดาบส[๑] ตั้ง                          ปณิธาน
ชาติแรกโพธิญาณ                         เริ่มไว้
ท่องเที่ยวก่อบุญทาน                     เพื่อตรัส รู้นา
พระเวสสันดรไซร้                        ชาติท้ายบำเพ็ญ ๚ะ

๏ จากมนุษย์เป็นเทพไท้               เทวา
ด้วยเดชแห่งบุญญา                        ก่อไว้
หลายแสนชาติสร้างมา                 ผลส่ง  เสวยนา
พร้อมพรั่งบริวารไซร้                   หมื่นล้านล้านองค์ ๚ะ

๏ ทรงเสวยสุขเลิศล้ำ                    แดนสวรรค์
ดุสิตพิมานชั้น                                ทิพย์แก้ว
มหาพรหมชักชวนกัน                   ทั้งหก ชั้นนา
ก้มกราบเชิญจุติแล้ว                      ภาคพื้นมนุษย์เมือง ๚ะ

๏ เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้             ชาวโลก
เพื่อดับกิเลสโรค                            หลุดพ้น
เพื่อสอนสั่งดับโศก                       ให้หมด  สิ้นนา
จิตศรัทธาแต่ต้น                            ก่อสร้างบำเพ็ญ ๚ะ

๏ ทรงตรวจเห็นชัดแล้ว                วิโลกนะ[๒]
ครบทั่วทั้งห้าจะ                             เกิดได้
กาลทวีปปะเทสะ                          กุละ  พร้อมนา
มาตุประการท้าย                           รับไหว้อาราธนา ๚ะ

๏ เสด็จชมป่าหมู่ไม้                       นันทวัน
แดนทิพย์สวนโลกสวรรค์           จัดไว้
เสด็จจุติโดยพลัน                           ลงสู่ ครรภ์นา
หมู่เทพโมทนาไซร้                       แซ่ซ้องสาธุการ ๚ะ๛

๒๕ กรกฏาคม ๕๖

๒.
ว่าด้วย : ปฏิสนธิ และประสูติ

–๏–

๏ ปฏิสนธิอยู่ท้อง                         มายา[๓]
พระสุทโธทนะบิดา                      โลกเจ้า
สิบเดือนครบเวลา                         ประสูติ ออกนา
เดือนหกเพ็ญเสด็จก้าว                  สู่พื้นย่างเดิน ๚ะ

๏ อัศจรรย์เกินกล่าวอ้าง               พรรณนา
ทั่วหมื่นโลกโลกา                         เทพไท้
กระเทือนทั่วพสุธา                        แตกตื่น กันนา
บุญแห่งโลกมากไซร้                    ร่ำไห้อัญชลี ๚ะ

๏ ลุมพินี[๔] เขตชี้                              บุญสถาน
ทั่วโลกต่างกล่าวขาน                    กราบไหว้
แดนเกิดเพื่อปราบมาร                  แห่งพระ องค์นา
ใครใคร่ได้บุญไซร้                        เร่งไว้นมัสการ ๚ะ๛
๒๖ กรกฏาคม ๕๖

๓.
ว่าด้วย : อาสภิวาจา[๕]

–๏–

๏ หนึ่งเดียวในโลกหล้า                ยิ่งมนุษย์
เราประเสริฐเจริญสุด                    ผ่องแผ้ว
ตายเกิดเกิดตายหยุด                      สิ้นสุด กันนา
ชาติใหม่ไม่มีแล้ว                          สุดท้ายภพภูมิ ๚ะ๛
๒๖ กรกฏาคม ๕๖

๔.
ว่าด้วย : ถวายพระนาม[๖]
พราหมณ์พยากรณ์[๗] และพระมารดาทิวงคต

–๏–

๏ ทรงประทานชื่อไว้                    เรียกขาน
สิตธัตถะกุมาร                               เก่งกล้า
แปดพราหมณ์เอกชำนาญ            ต่างกล่าว ชี้นา
เป็นหนึ่งในโลกหล้า                     แน่แท้ศาสดา ๚ะ

๏ พระมารดาละทิ้ง                       สังขาร
อยู่คู่แค่เจ็ดวาร                               ค่ำเช้า
แดนดุสิตทิพย์สถาน                     พระแม่ สถิตย์นา
บุญหมดต่อลูกเจ้า                          ท่านชี้ธรรมเนียม ๚ะ๛
๒๖ กรกฏาคม ๕๖

๕.
ว่าด้วย : บทสรรเสริญของพระนางกีสาโคตมี

–๏–

๏ หญิงใดเป็นแม่ไซร้                    หมดทุกข์
เป็นพ่อเกิดแต่สุข                           ค่ำเช้า
เป็นเมียยิ่งสนุก                               เสพสุข สวรรค์นา
อาจอิ่มแทนน้ำข้าว                        หากแม้นได้ครอง ๚ะ๛
๒๖ กรกฏาคม ๕๖

๖.
ว่าด้วย : ความสุขทางโลกและเหตุออกบวช

–๏–

๏ ศากยะตระกูลชาติเชื้อ              พระองค์
โคตมะโคตรกษัตริย์วงค์              หน่อเจ้า
กบิลพัสดุ์[๘] ป่าดง                           นามถิ่น เมืองนา
เสวยสุขทุกค่ำเช้า                          เทียบได้ชาวสวรรค์ ๚ะ

๏ บิดาท่านเสกสร้าง                     บำเรอ
เพื่อล่อลวงท้าวเธอ                        คลั่งไคล้
นารีหมื่นนางเสนอ                        สนองซึ่ง กามนา
ปราสาทสามฤดูไซร้                     ผูกไว้ครองเมือง ๚ะ

๏ สืบเนื่องด้วยเหตุชี้                     บรรพชา
ต่างก่อเชื้อตัณหา                           ล่อไว้
ครองรักคู่พิมพา[๙]                           สิบหก ขวบนา
มีบุตรราหุลไซร้                            บ่วงคล้องพระองค์ ๚ะ

๏ ทรงเพลิดเพลินอยู่ห้อง              ตัณหา
กินเล่นเที่ยวเฮฮา                            ค่ำเช้า
จิตเกิดเบื่อระอา                             เห็นซึ่ง โทษนา
อึดอัดอกปวดเกล้า                        เบื่อแล้วโลกีย์ ๚ะ

๏ เทวทูต[๑๐] ชี้ช่องให้                      เห็นทาง
ยี่สิบเก้าปีสว่าง                              เจิดจ้า
ออกบวชเพื่อละวาง                       เปลื้องปลด แอกนา
แบกทุกข์อยู่เกือบบ้า                     ชาตินี้ขาดกัน ๚ะ๛
๒๗ กรกฏาคม ๕๖

๗.
ว่าด้วย : ทรงเสด็จออกบวช

–๏–

๏ ทรงเสพสุขอิ่มแล้ว                    โลกีย์
ทุกสิ่งล้วนเคยมี                             พรั่งพร้อม
เห็นแล้วบ่วงราคี                            ผูกมัด มือนา
จิตมุ่งโพธิญาณน้อม                      สู่ห้องนิพพาน ๚ะ

๏ ลาสถานสมบัติแก้ว                  เรือนคลัง
ลาลูกเมียอีกทั้ง                              ชาติเชื้อ
ลาพ่อแม่เวียงวัง                             ทุกสิ่ง ทิ้งนา
ลาเพื่อบรรพชาเกื้อ                        โลกนี้สงบเย็น ๚ะ

๏ ทรงเห็นเหตุแห่งเชื้อ                  อกุศล
หวังเพื่อหลุดรอดพ้น                     บ่วงร้าย
ราตรีที่ปลอดคน                            หนีออก วังนา
ฉันนะห้อยติดท้าย                         ควบม้าเดินทาง ๚ะ

๏ มารขัดขวางห้ามว่า                   อย่าไป
อีกเจ็ดวันโชคใหญ่                        โผล่แล้ว
ทรงบอกชัดตัดใจ                          จงอย่า ห้ามนา
ขืนอยู่ติดบ่วงแร้ว                          ไม่แคล้วตายฟรี ๚ะ

๏ ยามราตรีผ่านพ้น                       สวัสดี
ถึงฝั่งอโนมานที                             แม่น้ำ
ทรงตัดพระโมลี                             ครองเพศ บวชนา
อธิษฐานจิตข้าม                            บ่วงร้ายเมืองมาร ๚ะ

๏ ประทานซึ่งเครื่องใช้                 เครื่องทรง
มอบแก่ฉันนะจง                           รับไว้
เพื่อบอกต่อทุกองค์                       ว่าบวช แล้วนา
จงอย่าคิดตามไซร้                         บวชแล้วบวชเลย ๚ะ

๏ ฉันนะเคยรับใช้                         ใกล้ชิด
เกือบจบสิ้นชีวิต                            มอดไหม้
กัณฐกะละลมปลิด                        ดับจิต ตายนา
ชาวโลกเสียดายไซร้                     ร่ำไห้โอดครวญ ๚ะ

๏ มวลหมู่เทพทั่วฟ้า                      จักรวาล
มีจิตสาธุการ                                  แซ่ซ้อง
เหล่าหมู่พวกพญามาร                   ตีอก เคืองนา
ต่างเคียดแค้นป่าวร้อง                   พ่ายแพ้พระองค์ ๚ะ๛
๒๗ กรกฏาคม ๕๖

๘.
ว่าด้วย : โกณฑัญญะพราหมณ์
ออกบวชติดตาม พร้อมด้วยเพื่อนพราหมณ์อีก ๔

–๏–

๏ ข่าวมงคลล่วงรู้                          ทั่วกัน
ทราบแก่โกณทัญญ์                       แซ่ซ้อง
รีบออกบวชโดยพลัน                   ตามติด ด้วยนา
พร้อมสี่เพื่อนพราหมณ์จ้อง          เพื่อรู้เรียนธรรม ๚ะ๛
๒๘ กรกฏาคม ๕๖

๙.
ว่าด้วย : ทรงเสด็จเดินทางแสวงหาโมกขธรรม

–๏–

๏ มหาบุรุษบวชแล้ว                     พากเพียร
อยู่ป่าอัมพวันเรียน                        คิดค้น
หวังหลุดรอดวกเวียน                    เกิดแก่ ตายนา
จิตมุ่งเพื่อข้ามพ้น                           บ่วงร้ายพญามาร ๚ะ

๏ กาลล่วงเลยผ่านแล้ว                 เจ็ดวัน
เข้าสู่ราชคฤห์ขัณฑ์                       เขตแคว้น
พิมพิสารทราบข่าวพลัน               ทรงเสด็จ เฝ้านา
ถวายซึ่งวังหากแม้น                      อยากได้ครอบครอง ๚ะ

๏ สองกษัตริย์ต่างล่วงรู้                เจตนา
ก้มกราบปฏิญญา                           ฝากไซร้
หากสำเร็จวิชชา                             ช่วยโปรด บอกนา
ทรงรับปวารณาไว้                        หลีกลี้บำเพ็ญ ๚ะ๛
๒๘ กรกฏาคม ๕๖

๑๐.
ว่าด้วย : การศึกษาธรรมในสำนักต่างๆ

–๏–

๏ ท่องเที่ยวหาสืบค้น                    เรียนธรรม
กับท่านผู้ทรงจำ                             หลุดพ้น
พบดาบสชั้นนำ                             สองท่าน เก่งนา
เข้าศึกษาอยู่ค้น                              เพื่อได้ปัญญา ๚ะ

๏ อาฬารดาบส[๑๑] ชี้                        หนทาง
ถึงแค่สมาบัติวาง                           แจ่มแจ้ง
อุทกฯ[๑๒] ต่อเติมหาง                       ไม่ดับ ทุกข์นา
ดาบสไม่อาจแย้ง                           ยกให้เสมอครู ๚ะ

๏ หากอยู่ต่อแค่ได้                        บูชา
ก้มกราบดาบสลา                          เที่ยวค้น
สมาบัติแปดแค่ยา                         เพื่อข่ม พิษนา
หลบหลีกเพื่อตั้งต้น                       มุ่งค้นโมกขธรรม ๚ะ๛
๒๘ กรกฏาคม ๕๖

๑๑.
ว่าด้วย : ทรงปลีกวิเวกเพื่อเจริญสมณธรรม

–๏–

๏ ผ่านเมืองผ่านป่าไม้                   ภูผา
เลาะลัดผ่านมคธา                          รัฐกว้าง
ถึงอุรุเวลาฯ[๑๓]                                 เขตป่า งามนา
เงียบสงัดป่าชัฏร้าง                        แมกไม้นาพรรณ ๚ะ

๏ กลางวันฝูงนกร้อง                     ระงม
น้ำท่าพร้อมอุดม                            แต่งไว้
บ้านเรือนช่างรื่นรมย์                    เหมาะแก่ เพียรนา
ที่เที่ยวโคจรไซร้                            อยู่ได้ภาวนา ๚ะ

๏ หาที่พออยู่ได้                             หลบฝน
หลบแดดหลบผู้คน                       เกี่ยวข้อง
ปักใจอยู่ฝึกตน                               เพียรเพ่ง ธรรมนา
เอาป่าไม้เป็นห้อง                          แผ่นฟ้าหลังคา ๚ะ

๏ เร่งภาวนาค่ำเช้า                         ยอมตาย
กดข่มทรมานกาย[๑๔]                       เกือบบ้า
ปฏิบัติหมดทุกสาย                        สิ้นหก ปีนา
มีภิกษุ[๑๕] ทั้งห้า                                นั่งเฝ้าข้างกาย ๚ะ

๏ ยอมตายยอมอดข้าว                  ย่างตน
สู้ต่อไม่จำนน                                 เลิกร้าง
ตายสลบสลบตายทน                   เพื่อหลุด พ้นนา
จิตไม่ยอมปล่อยขว้าง                   เลิกล้มแนวทาง ๚ะ

๏ ปล่อยวางตบะกล้า                    ลาถอย
ย้อนนึกเห็นร่องรอย                      ฝึกไว้
คราเมื่อนั่งเล่นคอย                        งานแรก นาแฮ
ทำซึ่งอานาฯ[๑๖] ไซร้                       จิตนี้เบิกบาน ๚ะ

๏ ได้การเห็นชัดแล้ว                     มรรคผล
ปรับเปลี่ยนวิถีตน                          เปลี่ยนแก้
นับหนึ่งใหม่ฝึกฝน                        ยกเลิก ตบะนา
คงสรุปได้แน่แท้                           มรรคนี้ถึงชัย ๚ะ๛
๒๘ กรกฏาคม ๕๖

๑๒.
ว่าด้วย : อุปมาธรรมจากสายพิณ[๑๗]

–๏–

๏ สายพิณเพลงดีดก้อง                 ประหลาด
ตึงนักมักสายขาด                          หยุดไว้
หากหย่อนนักอุบาทว์                   เสียงอาจ เพี้ยนนา
ปรับขยับพอดีไซร้                        ดีดได้ถึงใจ ๚ะ๛
๒๙ กรกฏาคม ๕๖

๑๓.
ว่าด้วย : อุปมาธรรมจากท่อนไม้ ๓ ข้อ

–๏–

๏ ไม้สดชุ่มแช่น้ำ                          สีไฟ
มัวแต่สีสีไป                                   เหนื่อยล้า
ยิ่งสียิ่งหมดใจ                                ไม่เกิด ไฟนา
กายจิตคลุกกามบ้า                        ห่อนได้เชื้อไฟ ๚ะ

๏ ไม้สดไกลจากน้ำ                      สีไฟ
มัวแต่สีสีไป                                   อ่อนล้า
ยิ่งสียิ่งถอดใจ                                 ไม่พบ ไฟนา
กายห่างแต่ใจคว้า                          นั่งเฝ้าปองหมาย ๚ะ

๏ ไม้แห้งไกลห่างน้ำ                    สีไฟ
เริ่มเริ่มสีสีไป                                 เกิดได้
ยิ่งสียิ่งสุขใจ                                   ย่อมเกิด ไฟนา
กายจิตห่างกามร้าย                        ย่อมได้เชื้อไฟ ๚ะ๛
๒๙ กรกฏาคม ๕๖

๑๔.
ว่าด้วย : ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หนีไป
ปล่อยพระองค์ไว้ลำพัง

–๏–

๏ ภิกษุทั้งห้าเสื่อมแล้ว                 ศรัทธา
ก้มกราบขออำลา                           ปล่อยไว้
เห็นหยุดพักกับตา                          เลิกเชื่อ แล้วนา
เข้าป่าอิสิฯ[๑๘] ไซร้                          ห่างไว้เป็นดี ๚ะ๛
๒๙ กรกฏาคม ๕๖

๑๕.
ว่าด้วย : ทรงอธิษฐานความเพียร

–๏–

๏ มหาบุรุษมากพร้อม                   ศรัทธา
ยึดหลักแห่งปัญญา                        ค่ำเช้า
กุศลกอดตายคา                             ไม่อิ่ม ใจนา
เพียรเพ่งไม่กลับก้าว                      หมดสิ้นความหวัง ๚ะ

๏ หนังเอ็นกระดูกไซร้                  เหลืออยู่
เนื้อและเลือดพรั่งพรู                     เหือดแห้ง
หากไม่เปิดประตู                           เห็นซึ่ง ธรรมนา
จักไม่ลุกกลับแกล้ง                       พ่ายแพ้เลิกเพียร ๚ะ๛
๒๙ กรกฏาคม ๕๖

๑๖.
ว่าด้วย : ความไม่ประมาทของพระองค์

–๏–

๏ ความไม่ประมาทแล้ว               ลุผล
เฝ้าระวังจิตตน                               ค่ำเช้า
ย่อมถึงฝั่งทุกคน                            ได้ลุ ธรรมนา
จิตตื่นทุกย่างก้าว                           ผ่านพ้นมีชัย ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๑๗.
ว่าด้วย : ทรงสุบินนิมิต[๑๙]
และบิณฑบาตมื้อแรกก่อนทรงตรัสรู้

–๏–

๏ มหาบุรุษหลับแล้ว                    ฝันไป
บอกซึ่งเหตุแห่งชัย                        ล่วงหน้า
ฝันมากหลากหลายนัย                  ยากแก่ เขียนนา
ใครใคร่รู้ค้นคว้า                            อ่านได้รู้เห็น ๚ะ

๏ เพ็ญเดือนหกฤกษ์เช้า                ฤดูกาล
ทรงล่วงรู้เหตุการณ์                       บอกได้
เห็นเหตุชัดด้วยญาณ                     แห่งเรื่อง ฝันนา
ใต้ร่มนิโครธไม้                             นั่งคู้ตรึกธรรม ๚ะ

๏ ตามตำรากล่าวไว้                      อัศจรรย์
หญิงหนึ่งนางมีครรภ์                     บุตรไซร้
สมหวังดั่งใฝ่ฝัน                             ตั้งจิต ขอนา
ต่อเทพนิโครธไว้                           ก่อนหน้ามีมา ๚ะ

๏ สุชาดาชื่อนั้น                             กุลสตรี
น้อมซึ่งปายาส[๒๐] ดี                        เซ่นไหว้
ถึงมือพระมุนี                                 เชื่อว่า เทพนา
เรียกภัตมื้อแรกได้                         ก่อนหน้าผู้คน ๚ะ

๏ ผลแห่งบุญมากไซร้                  คณนา
หมู่แห่งเทพเทวา                            แซ่ซ้อง
ทรงฉลองซึ่งศรัทธา                     รับหมด ถาดนา
ทรงกล่าวโมทนาก้อง                   ภัตนี้เลิศทาน ๚ะ

๏ ไม่รอนานรับแล้ว                      ต่างลา
เสด็จสู่เนรัญชรา                            อยู่ใกล้
ทรงปั้นเท่าลูกตา                           สี่สิบ เก้านา
เสวยหมดทุกก้อนไซร้                  เสร็จแล้วอธิษฐาน ๚ะ

๏ หากโพธิญาณพระนี้                 เห็นผล
ขอถาดทวนสายชล                       แล่นได้
อัศจรรย์บัดเดี๋ยวดล                       ถาดแล่น ทวนนา
ทราบชัดชาติสุดท้าย                     แน่แล้วอาตมา ๚ะ

๏ ทรงหาที่นั่งคู้                              บัลลังก์
เลาะลัดตามชายฝั่ง                        หาดไซร้
ประทับอยู่ลำพัง                            ใต้ร่ม รัง[๒๑] นา
พบโสตถิยะพราหมณ์ให้              ใบหญ้าแปดกำ ๚ะ

๏ ทรงนำไปเพื่อไว้                        ปูลาด
แทนซึ่งแผ่นผ้าอาสน์                   นั่งไซร้
ใต้โพธิ์พฤกษาชาติ[๒๒]                    รองอาตม์ องค์นา
วางเครื่องครองเก็บไว้                   นั่งคู้บัลลังก์ ๚ะ

๏ ทรงตั้งสัจละทิ้ง                         สังขาร
หากไม่อาจประหาร                      ดับได้
ซึ่งกิเลสบ่วงมาร                            ไม่ลุก ออกนา
ภพชาตินี้สุดท้าย                            อย่าได้อยู่เลย ๚ะ

๏ ทรงเคยพลาดพ่ายแพ้                หลายครา
ต่อแต่นี้สัญญา                               เด็ดไว้
หากไม่เกิดวิชชา                            เพื่อดับ ทุกข์นา
จะไม่ยอมถอยไซร้                        ชีพนี้แตกสลาย ๚ะ

๏ ได้สำเร็จกิจแล้ว                        สวัสดี
เพราะเหตุแห่งบารมี[๒๓]                  ก่อไว้
ยามปลายแห่งราตรี                       ทรงตรัส รู้นา
ทรงชนะมารได้ไซร้                      ลุแล้วโพธิญาณ ๚ะ๛
๒๙ กรกฏาคม ๕๖

๑๘.
ว่าด้วย : อานุภาพแห่งการตรัสรู้ธรรม

–๏–

๏ แสงสว่างสว่างทั่วหล้า             จักรวาล
เคยมืดมิดนมนาน                          สว่างจ้า
ขุมนรกมืดทรมาน                         กลับสว่าง ไสวนา
นี่อัศจรรย์เดชกล้า                         เหตุด้วยรู้ธรรม ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๑๙.
ว่าด้วย : เหตุแห่งแผ่นดินไหว

–๏–

๏ แผ่นดินไหวทั่วพื้น                    ปฐพี
เหตุแห่งพระบารมี                         หลุดพ้น
กระเทือนทั่วสวัสดี                       หาใช่ ภัยนา
มนุษย์เทพสัตว์สุขล้น                   แซ่ซ้องสาธุการ ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๒๐.
ว่าด้วย : พญามารผจญก่อนทรงตรัสรู้ธรรม

–๏–

๏ วัสวดีมาร[๒๔] เล่ห์ร้าย                  ริษยา
ประกาศเรียกเสนา                        พรั่งพร้อม
ก่อกวนก่อปัญหา                           หลายเรื่อง ชั่วนา
หวังเพื่อพิชิตล้อม                          ต่อต้านเบียดเบียน ๚ะ

๏ ยกพลเวียนก่อร้าย                     รบกวน
ร้องเรียกเที่ยวชักชวน                   พวกพ้อง
สมุนมารหมื่นล้านขบวน              ขับไล่ พระนา
ด่าว่าตะโกนร้อง                            เพื่อให้เลิกเพียร ๚ะ

๏ เปลี่ยนวิธีใส่ร้าย                        ป้ายสี
หวังเสื่อมสิ้นบารมี                        แพ่พ้าย
จ้องรุกขับราวี                                บีบไล่ ถอยนา
ค้นคิดเรื่องชั่วร้าย                          ยกค้านพระองค์ ๚ะ

๏ ทรงอธิษฐานจิตอ้าง                  บารมี
เชิญแม่พระธรณี                            ช่วยไว้
มารแตกทัพวิ่งหนี                         ยอมยก ธงนา
ก้มกราบยอมแพ้ไซร้                    หมดสิ้นปัญญา ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๒๑.
ว่าด้วย : ลำดับแห่งการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

–๏–

๏ ทรงเข้าฌานผ่านได้                   สี่ฌาน[๒๕]
จิตตื่นรู้เบิกบาน                             พักไว้
เลื่อนสู่ปุพเพฯ ญาณ[๒๖]                   ยามแรก รู้นา
รู้ทั่วภพภูมิไซร้                              ชัดแจ้งครรลอง ๚ะ

๏ ยามสองทรงหยั่งรู้                     เกิดตาย
แห่งหมู่สัตว์หญิงชาย                    เทพไท้
ผุดเกิดทุกที่หมาย                          เห็นชัด ตานา
เรียกจุตูปาตะฯ ไซร้                      แจ่มแจ้งภพนาม ๚ะ

๏ ยามสามทรงหยั่งรู้                     อริยสัจ
เหตุแห่งทุกข์มนุษย์สัตว์               ยึดไว้
เห็นทางดับทุกข์ชัด                       ตัดละ พ้นนา
เรียกชื่ออาสาวะฯ ไซร้                 เสร็จสิ้นพรหมจรรย์ ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๒๒.
ว่าด้วย : ความเป็นศาสดาเอกของโลก

–๏–

๏ ทรงตรัสรู้ชอบแล้ว                   สัจธรรม
ทรงอยู่เหนือบุญกรรม                  ผ่องแผ้ว
ศาสดาเอกเลิศล้ำ                           แห่งโลก สามนา
ทรงตรัสรู้เองแล้ว                          หมดสิ้นสงสัย ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๓.
ว่าด้วย : อุทานธรรมเย้ยตัณหาหลังตรัสรู้ธรรมแล้ว

–๏–

๏ ตถาคตท่องเที่ยวแล้ว                หลายชาติ
ไม่พบช่างอุบาทว์                          ต่ำช้า
ตัณหา[๒๗] ช่างแสนฉลาด               หลบซ่อน ตัวนา
โอ้ช่างตัณหาบ้า                             อย่าได้อวดดี ๚ะ

๏ โรงเรือนที่ก่อสร้าง                   เรารื้อ
สิ่งที่หลอกยึดถือ                           กวาดล้าง
ต้นเสาหักคามือ                             เราโค่น ทิ้งนา
ทุกสิ่งเราจับขว้าง                          ทุบทิ้งสิ้นสูญ ๚ะ

๏ แสนอาดูรน่าเศร้า                     สมเพช
ต่อแต่นี้ฤทธิ์เดช                            ดับสิ้น
เรือนอยู่แห่งกิเลส                          หมดสิทธิ์ สร้างนา
เชื้อเก่าทุกเศษชิ้น                           ถอดทิ้งจบกัน ๚ะ๛
๓๐ กรกฏาคม ๕๖

๒๔.
ว่าด้วย : ทรงเสวยวิมุตติสุขหลังจากตรัสรู้

–๏–

๏ พรหมจรรย์สุดสิ้น                     เส้นทาง
งานยุ่งปล่อยละวาง                       พักไว้
มลทินปัดสะสาง                           สะอาด สงบนา
อิสระเบิกบานไซร้                        สุขแท้ทรงเสวย ๚ะ

๏ เคยทุกข์เคยจิตท้อ                      หมดหวัง
เคยเครียดหมดสิ้นพลัง                  ต่อสู้
เคยถูกจับคุมขัง                              หลุดรอด พ้นนา
เช้าค่ำจิตตื่นรู้                                 สุขแท้ครอบครอง[๒๘] ๚ะ

๏ ทรงยืนมองดูต้น                        โพธิ์แก้ว[๒๙]
เพ่งตลอดเจ็ดวันแล้ว                     เปลี่ยนย้าย
จงกรม[๓๐] จิตผ่องแผ้ว                     ครบเจ็ด วันนา
ประทับเรือน[๓๑] แก้วท้าย               นับได้เจ็ดวัน ๚ะ

๏ ทรงหันกลับเสด็จก้าว               ดำเนิน
นั่งอยู่ต้นไทรเพลิน                        สุขแท้
พุทธธรรมช่างลึกเกิน                   ยากหยั่ง รู้นา
บุญเก่าช่วยปลดแก้                        พบได้เส้นทาง ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๕.
ว่าด้วย : ทรงขับไล่ธิดามาร[๓๒]

–๏–

๏ วัสวดีมารพ่ายแพ้                      ตรอมใจ
ช่างอับอายใครใคร                       ทั่วหน้า
ปล่อยให้พระคว้าชัย                     ได้ตรัส รู้นา
อายเทพทุกทั่วหล้า                        หลบลี้อำพราง ๚ะ

๏ นั่งริมทางใหญ่กว้าง                  คอตก
เผลอนั่งหลับสัปหงก                    ร่ำไห้
ลูกสาวบอกพ่อตลก                      เป็นเรื่อง เล็กนา
ชายทั่วโลกตายไซร้                      พ่ายแพ้เสน่ห์นาง ๚ะ

๏ ว่าพลางรีบเร่งเท้า                      ตามหา
หวังยั่วปลุกกามา                           คลั่งไคล้
ตัณหากับราคา                               อรดี สาวนา
กระโดดเข้าชิดใกล้                       ยั่วเย้าบำเรอ ๚ะ

๏ เธอสามสาวยั่วเย้า                     ตลอดวัน
เปลี่ยนท่าแบ่งงานกัน                   รุกเร้า
พระทรงเมตตาพลัน                      บอกกล่าว หนีนา
ทุกสิ่งที่สูเจ้า                                   ยั่วเย้าไร้ผล ๚ะ

๏ มนต์เสน่ห์ที่พวกเจ้า                  ต่างร่าย
อาจสะกดจิตผู้ชาย                        โง่บ้า
ตถาคตหมดความหมาย                จงอย่า ร่ายนา
นางร่ำไห้หลบหน้า                       พ่ายแพ้สยบยอม ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๖.
ว่าด้วย : พราหมณ์แท้พราหมณ์เทียม

–๏–

๏ ผู้ใดมีบาปพ้น                             จากใจ
กล่าวเรียกว่าพราหมณ์ไท            ผ่องแผ้ว
กายใจสะอาดใส                            พ้นบ่วง มารนา
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว                  ชื่อแท้พราหมณ์ธรรม ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๗.
ว่าด้วย : พญามุจลินท์นาคราช

–๏–

๏ กาลผ่านไปนับแล้ว                   เจ็ดวัน
เสด็จทิศอาคเนย์พลัน                    นั่งไซร้
ใต้ร่มจิก[๓๓] ไม้พรรณ                     ฝนตก พรำนา
พญานาคป้องฝนให้                      นับได้เจ็ดวาร ๚ะ

๏ ทรงสำราญยิ่งแล้ว                     เบิกบาน
ขบคิดย้อนวันวาน                         ผ่านพ้น
หมู่เทพทั่วจักรวาล                        ผลัดเปลี่ยน เฝ้านา
ต่างแช่มชื่นสุขล้น                         ทั่วหน้าเกิดบุญ ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๘.
ว่าด้วย : อุทานธรรมแก่พญามุจลินท์นาคราช

–๏–

๏ ความสงัดเป็นสุขแท้                 มุนี
จิตใคร่เสพยินดี                              ย่อมได้
เห็นเหตุทุกสิ่งมี                              เกิดดับ ได้นา
มีจิตไม่คิดร้าย                                ล่วงได้เรื่องกาม ๚ะ

๏ ความคิดถือว่าข้า                       เก่งกล้า
เที่ยวแบกตัวกูท้า                           อวดอ้าง
ถอนออกซึ่งความบ้า                     ออกหมด ได้นา
อยู่สุขในโลกกว้าง                        ชั่วฟ้าดินสลาย ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๒๙.
ว่าด้วย : ทรงเสวยวิมุตติสุขเป็นวาระสุดท้าย
ท้าวสักกเทวราชถวายผลสมอ

–๏–

๏ ครั้นกาลผ่านล่วงแล้ว               บอกเหตุ
เสด็จสู่ร่มไม้เกด[๓๔]                         ทิศใต้
ทรงเสวยสุขวิเศษ                          อีกเจ็ด วันนา
ท้าวสักกะถวายสมอ[๓๕] ให้            ถ่ายล้างวรกาย ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๓๐.
ว่าด้วย : เทววาจิกอุบาสก สองพี่น้อง
ถึงพระพุทธ พระธรรมเป็นสรณะ

–๏–

๏ พานิชสองพี่น้อง                        นายเกวียน
ตปุสสะภัลลิกะเพียร                     เที่ยวค้า
ทราบข่าวเกือบจวนเจียน              เลยผ่าน ไปนา
จากเพื่อนเทพบนฟ้า                      บอกแจ้งข่าวดี ๚ะ

๏ ว่ามีพระพุทธเจ้า                        ศาสดา
จึงเร่งรีบตามหา                             พบแล้ว
น้อมสัตตุ[๓๖] บูชา                            ขอพึ่ง พระนา
เป็นอุบาสกแก้ว                             ก่อนหน้าใครใคร ๚ะ

๏ จิตเลื่อมใสยิ่งแล้ว                      อำลา
ก้มกราบน้อมวันทา                       กลับไซร้
ทรงมอบพระเกศา                         แทนพระ องค์นา
รับมอบเก็บซ่อนไว้                       ใส่เกล้าบูชา ๚ะ๛
๓๑ กรกฏาคม ๕๖

๓๑.
ว่าด้วย : ทรงคิดหาสิ่งเคารพ
เห็นว่าพระองค์ควรเคารพพระธรรม

–๏–

๏ วันวานผ่านล่วงพ้น                   เจ็ดวัน
เสด็จจากไม้เกดพลัน                     ขยับย้าย
สู่ไทรอยู่ติดกัน                              อีกหนึ่ง ครานา
ทรงคิดสิ่งกราบไหว้                     คิดค้นค้นหา ๚ะ

๏ ตถาคตนั้นเลิศแล้ว                    ผู้นำ
เห็นแต่พระสัทธรรม                     เลิศไซร้
ควรยิ่งแก่การทำ                            ซึ่งกิจ นบนา
พระพุทธต่างทรงไว้                      เช่นนี้ทุกองค์ ๚ะ๛
๑ สิงหาคม ๕๖

๓๒.
ว่าด้วย : พราหมณ์ตัดพ้อ
ว่าพระองค์ไม่เคารพคนเฒ่าชรา ผู้มีอายุ

–๏–

๏ พราหมณ์ต่างกล่าวโจทย์ชี้       ครหา
ว่าไม่เคารพเฒ่าชรา                       ถ่อมให้
ทรงตรัสตอบปัญหา                      บอกแก่ พราหมณ์นา
แก่เฒ่าใช่อายุไซร้                          แก่แท้รู้ธรรม ๚ะ

๏ คำพูดบ่งบอกชี้                          เฒ่าชรา
กล่าวหยาบเที่ยวมุสา                    หลอกไซร้
กล่าวจริงก่อปัญญา                       ควรแก่ กราบนา
คำพูดบอกภูมิให้                            กราบไหว้ได้บุญ ๚ะ๛
๑ สิงหาคม ๕๖

๓๓.
ว่าด้วย : พญามารอาราธนาให้เสด็จปรินิพพาน

–๏–

๏ มารผู้ใจหยาบช้า                        จอมพาล
ทูลพระทรงนิพพาน                      ดับไซร้
ทรงกล่าวตอบใช่กาล                   ควรแก่ ละนา
รอก่อนรอก่อนให้                         โลกนี้ปลอดภัย ๚ะ

๏ ตราบใดสัตว์ไม่พ้น                   ปัญหา
สาวกขาดปัญญา                            ตื่นรู้
ศาสนาไม่วัฒนา                            เจริญรุ่ง เรืองนา
ตถาคตเพียรต่อสู้                           กอบกู้พระธรรม ๚ะ๛
๑ สิงหาคม ๕๖

๓๔.
ว่าด้วย : ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม

–๏–

๏ จิตพระองค์เหนื่อยล้า                ท้อถอย
เห็นหมู่สัตว์สติน้อย                      เกียจคร้าน
อาลัยโลกล่องลอย                        คิดแต่ กามนา
จิตลุ่มหลงผลักต้าน                       ละทิ้งใฝ่ธรรม ๚ะ

๏ กรรมสัตว์โลกติดข้อง              ตัณหา
ธรรมลึกเกินปัญญา                       หยั่งรู้
จิตไร้ซึ่งศรัทธา                             หยาบยิ่ง ยากนา
คงเหนื่อยเปล่าอย่าสู้                     งดไว้สอนคน ๚ะ๛
๒ สิงหาคม ๕๖

๓๕.
ว่าด้วย : ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนา
ให้แสดงธรรมโปรดสัตว์โลก

–๏–

๏ โลกทั้งโลกเสื่อมแล้ว               ฉิบหาย
หากพระเลิกเป้าหมาย                   ขุดรื้อ
โลกทั้งโลกวุ่นวาย                        เพราะขาด ธรรมนา
โลกขาดธรรมมืดตื้อ                     หม่นไหม้โศกา ๚ะ

๏ อาราธนากราบไหว้                  ศาสดา
เชิญเถิดโปรดเมตตา                      ช่วยไว้
สัตว์ผู้มากปัญญา                           มีอยู่ มากนา
หากพลาดโอกาสไซร้                  เสื่อมสิ้นนัยน์ตา ๚ะ๛
๒ สิงหาคม ๕๖

๓๖.
ว่าด้วย : ทรงพิจารณาบุคคลเปรียบด้วยดอกบัว[๓๗] ๔ เหล่า

–๏–

๏ หมู่สัตว์นั้นแบ่งชี้                       ดีชั่ว
ทรงเปรียบเช่นดอกบัว                  ตรัสไว้
ประเภทแรกเกลียดกลัว                ต่อบาป กรรมนา
ดั่งเช่นบัวบานไซร้                        ผ่านพ้นวารี ๚ะ

๏ สองทรงชี้ไว้เช่น                        ปริ่มน้ำ
อีกไม่กี่อึดข้าม                               โผล่ได้
อาจชี้แนะฟังความ                        รู้ทั่ว อรรถนา
สามเช่นบัวผ่านร้าย                       แช่น้ำพ้นตม ๚ะ

๏ อาจข่มขัดบอกชี้                        รู้ความ
เฝ้าดุเฝ้าจี้ตาม                                 โผล่พ้น
สี่ยากยิ่งยกหาม                              บอกกล่าว สอนนา
หมดสิทธิ์ช่วยขุดค้น                     แช่แล้วในตม ๚ะ๛
๒ สิงหาคม ๕๖

๓๗.
ว่าด้วย : ทรงเห็นลู่ทางที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์ได้

–๏–

๏ ทางเดียวทางเอกชี้                     หลักใจ
อาจช่วยหมู่สัตว์ไป                       รอดได้
พระสติปัฏฐานชัย[๓๘]                     ตัวแก่น ธรรมนา
ดับซึ่งกิเลสร้าย                              หมดสิ้นเชื้อสูญ ๚ะ๛
๒ สิงหาคม ๕๖

๓๘.
ว่าด้วย : ทรงระลึกหาผู้รับปฐมเทศนา

–๏–

๏ ทรงใคร่ครวญสืบค้น                ค้นหา
ผู้ที่มีปัญญา                                     รับได้
สองดาบสครูบา                            ครูเก่า เก่งนา
ทรงทราบซึ่งข่าวร้าย                    ท่านสิ้นอายุขัย ๚ะ

๏ ทรงเปลี่ยนใจโยกย้าย               กรุณา
เห็นซึ่งภิกษุห้า                               นั่นไซร้
เป็นผู้มากศรัทธา                           มากซึ่ง คุณนา
อยู่ป่าอิสิฯ[๓๙] ใกล้                           มุ่งหน้าตรงไป ๚ะ

๏ ในเส้นทางพบแล้ว                    อุปกะ[๔๐]
ถามไต่ไม่ลดละ                             ซักไซร้
ทรงบอกนี่พุทธะ                           เป็นหนึ่ง โลกนา
แล้วแลบลิ้นยกให้                         ส่ายหน้าอำลา ๚ะ

๏ ถึงเขตป่าค่ำแล้ว                        ตามหา
พบซึ่งภิกษุห้า                                ครบไซร้
ต่างนัดแนะสัญญา                         จงอย่า รับนา
เดชแห่งฤทธิ์เปลี่ยนให้                 กราบไหว้เชื้อเชิญ ๚ะ

๏ ทรงเผชิญหน้าตรัสให้               ตั้งใจ
จะช่วยรื้อแก้ไข                             บาปร้าย
ภิกษุบอกปัดไป                             ไม่อยาก เชื่อนา
ตรัสอีกสองครั้งไซร้                     ต่างน้อมยอมฟัง ๚ะ๛
๒ สิงหาคม ๕๖

๓๙.
ว่าด้วย : ปฐมเทศนา[๔๑]

–๏–

๏ วันเพ็ญเดือนแปดเช้า                 ประกาศ
ตรงกับอาสาฬหมาส                     กล่าวไว้
พระทรงเปล่งสีหนาท                   ณ ป่า อิสิฯ[๔๒] นา
เรียกชื่อธรรมจักร[๔๓] ไซร้              ตรัสแล้วใจความ ๚ะ

๏ สุขในกามห่อหุ้ม                       มัดใจ
จิตยึดถือหลงไหล                          หม่นไหม้
ทรมานร่างย่างไฟ                          กดข่ม กายนา
สองส่วนล้วนผิดไซร้                    เสพแล้วผิดทาง ๚ะ

๏ จิตสว่างใสดับแล้ว                    ซึ่งทุกข์
มรรคแปดนี้ก่อสุข                        แน่ไซร้
อริยะเกิดทุกยุค                              คู่โลก ตลอดนา
รีบเร่งศึกษาไว้                               จบสิ้นพรหมจรรย์ ๚ะ

๏ พระอัญญาฯ[๔๔] รู้ทั่ว                   ใจความ
น้อมจิตคล้อยฟังตาม                     หลุดพ้น
ธรรมจักรช่างงดงาม                     บริสุทธิ์ เลิศนา
พระมากกรุณาล้น                         ช่วยรื้อสงสาร ๚ะ๛
๓ สิงหาคม ๕๖

๔๐.
ว่าด้วย : อริยสัจ[๔๕]

–๏–

๏ เกิดแก่ตายเหล่านี้                      เป็นทุกข์
เศร้าโศกพลาดจากสุข                  ร่ำไห้
ขันธ์[๔๖] ห้ายอดตัวคุก                     กอดยึด ทุกข์นา
ทุกขสัจแค่รู้ไว้                               อย่าให้มัดใจ ๚ะ

๏ สองสมุทัยเหตุให้                      เกิดทุกข์
จิตอยากเสพเสวยสุข                     คลั่งไคล้
อยากโน่นนี่นั่นคุก                        ผูกมัด สัตว์นา
รีบละหลีกห่างไว้                          โปรดรู้อย่าตาม ๚ะ

๏ สามนิโรธดับแล้ว                     สิ้นทุกข์
ถึงซึ่งเขตบรมสุข                           เลิศล้น
หลุดรอดออกจากคุก                    อิสระ จิตนา
รู้ชัดแจ้งหลุดพ้น                            สุขแท้สวัสดี ๚ะ

๏ สี่มรรคสัจเร่งไว้                        ทางเดิน
หาใช่สิ่งยากเกิน                            ล่วงรู้
หากเพียรย่อมเพลิดเพลิน              สำเร็จ ได้นา
รีบเร่งปฏิบัติสู้                               เกิดได้มรรคผล ๚ะ๛
๓ สิงหาคม ๕๖

๔๑.
ว่าด้วย : อริยมรรคมีองค์ ๘[๔๗]

–๏–

๏ มรรคแปดทางสว่างไซร้          ปฏิปทา
บ่อเกิดแห่งปัญญา                         หลุดพ้น
แปดสายหนึ่งมรรคา                     ท่องเที่ยว ถึงนา
รีบเร่งพากเพียรค้น                        ถูกต้องวิชชา ๚ะ

๏ ปัญญาเห็นชอบแล้ว                  ทุกข์ดับ
สองคิดชอบจิตขยับ                      รอดไซร้
วาจาชอบสามปรับ                        แก้ทุกข์ สิ้นนา
สี่มุ่งการงานไว้                              ยึดสร้างสัมมา ๚ะ

๏ ห้าเลี้ยงชีวิตไว้                           ชอบธรรม
หกพากเพียรหมั่นทำ                     ชอบไว้
เจ็ดระลึกประจำ                             เช้าค่ำ ชอบนา
แปดจิตตั้งชอบไซร้                       มรรคนี้พุทธธรรม ๚ะ๛
๓ สิงหาคม ๕๖

๔๒.
ว่าด้วย : พระรัตนตรัยครบองค์สามเกิดขึ้นในโลก

–๏–

๏ พระรัตนตรัย[๔๘] ครบแล้ว          องค์สาม
โลกสว่างสงบงดงาม                    ทั่วหล้า
สัจธรรมเคลื่อนหมุนตาม             ขยี้บด มารนา
ประโยชน์สุขทั่วหน้า                    พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ๚ะ๛
๓ สิงหาคม ๕๖

๔๓.
ว่าด้วย : ยสกุลบุตร

–๏–

๏ ทรัพย์สมบัติพรั่งพร้อม             ครบครัน
เทียบเท่าเหล่าชาวสวรรค์             ว่าได้
จิตเกิดเบื่อหน่ายพลัน                    บุญเก่า[๔๙] หนุนนา
ที่นี่วุ่นวายร้าย                                กล่าวร้องออกมา ๚ะ

๏ พระตถาคตกล่าวแก้                 ตอบไป
ที่นี่ไม่วุ่นใจ                                    สุขไซร้
ยสะหนุ่มเกิดเลื่อมใส                    จิตเชื่อ ตามนา
ทรงมอบปัญญาให้                        หลุดพ้นบรรพชา ๚ะ

๏ บิดาต่างเที่ยวค้น                        ตามหา
พบซึ่งพระศาสดา                          กราบไหว้
ฟังธรรมเกิดปัญญา                        ขอพึ่ง พระนา
เป็นอุบาสกได้                               ครบถ้วนรัตนตรัย ๚ะ

๏ ตามตำรากล่าวไว้                      พิศดาร
ทั้งครอบครัวลูกหลาน                  ทั่วหน้า
จิตเกิดกุศลญาณ                            ถึงแก่น ธรรมนา
ญาติมิตรไม่รอช้า                          บวชด้วยทันที ๚ะ

๏ คัมภีร์กำหนดชี้                          จำนวน
มีครบหกสิบถ้วน                          พระแท้
ทรงบวชหมดทั้งมวล                    ล้วนแต่ อรหันต์นา
ทรงส่งไปปรับแก้                         บอกเนื้อแก่นธรรม ๚ะ๛
๔ สิงหาคม ๕๖

๔๔.
ว่าด้วย : อนุปุพพิกถาที่ทรงแสดงแก่ยสะกุลบุตร[๕๐]

–๏–

๏ ทานเสียสละแบ่งให้                  ทั่วหน้า
ด้วยจิตเชื่อบูชา                              มากไว้
ศีลเว้นจากมายา                             ก่อบาป กรรมนา
สวรรค์มุ่งเสวยสุขไซร้                 บ่งชี้ผลบุญ ๚ะ

๏ กามคุณ[๕๑] โทษมากชี้                 ระวัง
หลงติดพินาศพัง                            เสื่อมไซร้
เนกขัมม์บ่อแห่งพลัง                     หลบหลีก กามนา
เพียรสั่งสมก่อไว้                           มากแท้อานิสงส์ ๚ะ๛
๔ สิงหาคม ๕๖

๔๕.
ว่าด้วย : ส่งสาวกประกาศพระศาสนา[๕๒]

–๏–

๏ เราตถาคตหลุดพ้น                    บ่วงมาร
ทั้งทิพย์มนุษย์ทุกขนาน                ผ่านไซร้
เธอก็ล่วงก้าวผ่าน                          เฉกเช่น เรานา
จงเที่ยวประกาศให้                        โลกนี้สงบเย็น ๚ะ

๏ จงเอ็นดูช่วยชี้                             มรรคผล
ประโยชน์สุขมหาชน                    เทพไท้
องค์เดียวเที่ยวปลีกตน                  สองรูป เว้นนา
หมู่สัตว์ฉลาดปราชญ์ไซร้            อาจได้เห็นธรรม ๚ะ

๏ จงพร่ำสอนกล่าวให้                  ไพเราะ
ครบทั่วสามกาลเหมาะ                 ผ่องแผ้ว
อย่ากล่าวเล่นหัวเราะ                    ผิดแผก ธรรมนา
เรามุ่งอุรุฯ[๕๓] แล้ว                           เพื่อชี้แสดงธรรม ๚ะ๛
๔ สิงหาคม ๕๖

๔๖.
ว่าด้วย : ภัททวัคคีย์ มาณพหนุ่ม ๓๐ คน

–๏–

๏ ระหว่างทางพบแล้ว                  มาณพ
สามสิบคนนับครบ                       เที่ยวค้น
หาหญิงช่างประจบ                        หลอกซึ่ง ทรัพย์นา
บอกกล่าวถูกลักปล้น                   หมดสิ้นเงินตรา ๚ะ

๏ ทรงเมตตาบอกชี้                       หาตน
มัวเที่ยวหาไร้ผล                            หยุดไว้
หาตนเกิดกุศล                                ได้แก่น สารนา
มาณพขอบวชไซร้                        ตื่นรู้หมดกรรม ๚ะ๛
๔ สิงหาคม ๕๖

๔๗.
ว่าด้วย : โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง

–๏–

๏ เสด็จถึงมคธรัฐแคว้น               ราชคฤห์
เข้าป่าอุรุฯ[๕๔] ลึก                             เขตใกล้
มากครูพร่ำสอนฝึก                       ยึดเชื่อ รู้นา
ทรงแผ่กรุณาให้                            ทั่วหน้าพ้นกาม ๚ะ

๏ ชฎิลสามพี่น้อง                          มากศิษย์
ถือซึ่งไฟศักดิ์สิทธิ์                        กราบไหว้
มีนาคมากด้วยฤทธิ์                       ถือยึด ยัญนา
เทียบเท่าอรหันต์ไซร้                    ลาภล้นศักดิ์ศรี ๚ะ

๏ อุรุเวลฯ[๕๕] พี่ใหญ่นั้น                 ปกครอง
อีกชื่อนทีฯ[๕๖] น้อง                          อยู่ใกล้
คยาฯ[๕๗] นั้นสุดท้ายรอง                 ขึ้นชื่อ เก่งนา
อยู่ติดเนรัญฯ[๕๘] ไซร้                      เรียกร้องศรัทธา ๚ะ

๏ ทรงเข้าหามอบให้                     ปัญญา
ทรงปราบด้วยอภิญญา                  ฤทธิ์ไซร้
ชฎิลหมอบกราบวันทา                 ยอมเชื่อ บวชนา
ความพิศดารกล่าวไว้                    มากเนื้อหลายนัย ๚ะ

๏ สรุปใจความย่อไว้                     พองาม
บ้างอวดฤทธิ์อวดงาม                   อวดรู้
บ้างปฏิบัติเชื่อตาม                        แบบเก่า ยึดนา
บ้างสุดเกินแก้กู้                             ช่วยชี้บอกทาง ๚ะ

๏ บ้างอ้างรู้หมดแล้ว                     อวดดี
บ้างติดยศศักดิ์ศรี                          แบกไว้
บ้างเชื่อเทพเชื่อผี                           ไหว้กราบ อ้อนนา
ทรงเที่ยวสอนเปลี่ยนให้               ซาบซึ้งในธรรม ๚ะ๛
๕ สิงหาคม ๕๖

๔๘.
ว่าด้วย : โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
พระราชาเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
ตามที่ทรงได้รับปฏิญญาไว้

–๏–

๏ เสด็จสู่ราชคฤห์แล้ว                  โดยพลัน
ประทับอยู่ลัทธิวัน                        ป่าน้อย
พิมพิสารพระราชันย์                     ทราบข่าว เสด็จนา
เสด็จแวดล้อมนับร้อย                   พรั่งพร้อมบริวาร ๚ะ

๏ ถวายการต้อนรับแล้ว               ฟังธรรม
รู้ทั่วอรรถเลิศล้ำ                            ผ่องแผ้ว
ถวายซึ่งแผ่นดินทำ                       วัดแรก ขึ้นนา
เป็นป่าไผ่[๕๙] เสร็จแล้ว                   หลั่งน้ำบูชา ๚ะ

๏ มีเหตุน่ารับรู้                               จดจำ
คราวเสด็จโปรดแสดงธรรม        กล่าวไว้
หมู่อำมาตย์แสร้งทำ                      อ้างอวด ตนนา
ทรงมอบอุรุฯ[๖๐] ให้                         ปราบสิ้นพยศทราม ๚ะ

๏ เนื้อความบางบทชี้                     แถลงไข
เหตุแห่งกรวดน้ำใส                      เริ่มต้น
หมู่เปรตญาติทุกข์ใจ                     ขอส่วน บุญนา
อุทิศบุญทุกข์พ้น                            ทราบไว้ประเพณี ๚ะ๛
๕ สิงหาคม ๕๖

๔๙.
ว่าด้วย : ทรงแสดงธรรม ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร

–๏–

๏ แสงแห่งธรรมสว่างแล้ว          ทั่วหล้า
หมู่สัตว์สุขทั่วหน้า                        ตื่นรู้
หมดกรรมหมดปัญหา                   เว้นจาก บาปนา
สะอาดสว่างทุกผู้                          ไม่เว้นขอทาน ๚ะ

๏ ทรงประทานสุขให้                   ครบกาล
เช้าค่ำบ่มเพาะหว่าน                      เมล็ดเชื้อ
ไม่บ่นเบื่อรำคาญ                           เหน็ดเหนื่อย ท้อนา
จิตโปรดทุกหน่อเนื้อ                    ดื่มลิ้มรสธรรม ๚ะ๛
๕ สิงหาคม ๕๖

๕๐.
ว่าด้วย : พระอัครสาวก[๖๑]

–๏–

๏ ถือกำเนิดเกิดแล้ว                      สองชาย
อุปติสสะโกลิตะ[๖๒] สหาย             ชิดใกล้
มีพ้องเพื่อนมากมาย                      ท่องเที่ยว เล่นนา
บุญเก่าหนุนส่งให้                          ใฝ่รู้พระธรรม ๚ะ

๏ เวลาค่ำคราวหนึ่งนั้น                 เที่ยวงาน
เคยเพลิดเพลินสนุกสนาน            สุขล้น
จิตรู้ว่าไม่นาน                                ตายก่อน วัยนา
ควรมุ่งธรรมหลุดพ้น                    เกิดได้ปัญญา ๚ะ

๏ รีบออกหาบ่อแก้ว                     กุศล
ประดับกายใจตน                          เร่งไว้
อาจพบซึ่งมรรคผล                       ก่อนหมด ลมนา
เป็นศิษย์สัญชัย[๖๓] ไซร้                   เพื่อรู้เรียนธรรม ๚ะ

๏ พร่ำพากเพียรค่ำเช้า                   รู้หมด
จบแจ่มแจ้งทุกบท                         บอกไว้
กิเลสไม่เห็นลด                              นึกแปลก ใจนา
ถามซึ่งอาจารย์ไซร้                       แค่นี้วิชา ๚ะ

๏ ออกเที่ยวหาทั่วแล้ว                  วิชชา
เห็นพระอัสสชิศรัทธา                  เกิดไซร้
กราบขอซึ่งปัญญา                         ช่วยบอก ด้วยนา
พระอัสสชิบอกให้                        ตื่นรู้ฉับพลัน ๚ะ

๏ เหตุนั้นย่อมเกิดแล้ว                  มีมา
ดับซึ่งเหตุปัญหา                            ดับไซร้
อุปติสสะเกิดปัญญา                      จิตสว่าง ไสวนา
ลากลับสัญญาไว้                           เพื่อนนั้นรอฟัง ๚ะ

๏ หันหลังรีบวิ่งร้อง                      ดีใจ
เราพบแล้วธรรมชัย                       ผ่องแผ้ว
บอกโกลิตะตามนัย                       ทุกบท ฟังมา
โกลิตะรู้แล้ว                                  ครบถ้วนเบิกบาน ๚ะ

๏ บอกอาจารย์พบแล้ว                 ปัญญา
องค์เอกพระศาสดา                       เกิดแล้ว
อาจารย์ไม่นำพา                            บอกปัด อย่านา
หากร่วมทางไม่แคล้ว                   โลกนี้ติเตียน ๚ะ

๏ น้อมธูปเทียนกราบไหว้            อำลา
ต่างมุ่งพบศาสดา                           บวชไซร้
บวชแล้วเกิดปัญญา                       เป็นยอด พระนา
ทรงยกย่องตั้งไว้                            เลิศแล้วทางธรรม ๚ะ๛
๕ สิงหาคม ๕๖

๕๑.
ว่าด้วย : ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์[๖๔]

–๏–

๏ ขันติความอดกลั้น                     กายใจ
เป็นตบะกล้ายิ่งใหญ่                      ตรัสไว้
พุทธเจ้าตรัสสัจนัย                        ทุกพระ องค์นา
ว่าพระนิพพานไซร้                       แก่นแท้บรมธรรม ๚ะ

๏ คิดทำร้ายผู้อื่น                           อย่าคิด
หาใช่เพศบรรพชิต                        พระไซร้
เบียดเบียนก่อวิปริต                       ผู้อื่น ร้อนนา
หาใช่สมณะทรงไว้                       หน่อเนื้อพระธรรม ๚ะ

๏ การไม่ทำชั่วช้า                          เลวทราม
ก่อแต่ความดีงาม                           เก็บไว้
จิตบริสุทธิ์ทุกยาม                         สะอาด สงบนา
พระพุทธทรงตรัสไว้                    เช่นนี้ตลอดกาล ๚ะ

๏ การไม่พูดว่าร้าย                        ก่อภัย
การไม่ทำร้ายใคร                          หยุดไซร้
การถือพระวินัย                             เคร่งครัด กฏนา
รู้จักประมาณไว้                             เรื่องท้องดื่มกิน ๚ะ

๏ ยินดีที่อยู่แล้ว                             เสนาสนะ
ที่นั่งนอนสมถะ                             สงัดไซร้
ฝึกจิตอย่าลดละ                             เพียรยิ่ง ยวดนา
พระพุทธทรงแสดงไว้                  เช่นนี้ทุกองค์ ๚ะ๛
๕ สิงหาคม ๕๖

๕๒.
ว่าด้วย : ทรงเสด็จเมืองกบิลพัสดุ์

–๏–

๏ ข่าวพระเกียรติกึกก้อง              ฟุ้งขจร
ถึงเขตกบิลพัสดุ์นคร                     ทั่วแล้ว
บิดาตรัสไหว้วอน                         ทูลเสด็จ โปรดนา
ทรงรับทูลพ่อแก้ว                         เสด็จแล้วโดยพลัน ๚ะ

๏ ถึงเขตขัณฑ์พ่อแก้ว                   พารา
ประทับนิโครธา[๖๕]                         จัดไว้
ฝนแก้ว[๖๖] ตกลงมา                         เกิดเหตุ อัศจรรย์นา
ทรงตรัสบุพพชาติ[๖๗] ไซร้             กล่าวไว้พิศดาร ๚ะ๛
๖ สิงหาคม ๕๖

๕๓.
ว่าด้วย : โปรดพุทธบิดา

–๏–

๏ รุ่งเช้าทรงเสด็จแล้ว                   โคจร
เที่ยวรับบาตรทั่วนคร                   กล่าวไว้
บิดากราบไหว้วอน                       จงอย่า เสด็จนา
ผิดแบบประเพณีไซร้                    อย่าได้ทำเลย ๚ะ

๏ ทรงเฉลยตรัสบอกชี้                 ธรรมเนียม
เป็นพระจงรู้เจียม                           เคร่งไว้
กษัตริย์ย่อมตระเตรียม                  ตกแต่ง เสวยนา
ตถาคตเป็นพระไซร้                      สิ่งนี้ควรทำ ๚ะ

๏ ทรงแสดงธรรมโปรดแล้ว       บิดา
สำเร็จภูมิอนาคาฯ[๖๘]                       กล่าวไว้
ทรงจ่ายแจกปัญญา                       รู้ทั่ว เมืองนา
ญาตัตถจริยา[๖๙] ไซร้                       แสดงให้โลกเห็น ๚ะ๛
๖ สิงหาคม ๕๖

๕๔.
ว่าด้วย : โปรดพระนางพิมพาเทวี

–๏–

๏ ทรงฟังคำเล่าแล้ว                      เหตุการณ์
ความโศกเศร้ารอนาน                  ร่ำไห้
พิมพาทุกข์ทรมาน                         นับแต่ พรากนา
เก็บกักขังตัวไว้                              อยู่ห้องบรรทม ๚ะ

๏ ทรงตรัสชมยกอ้าง                    คุณนาง
เคยร่วมบำเพ็ญสร้าง                      ก่อไว้
หลายภพชาติร่วมทาง                   สุขทุกข์ กันนา
เติมแต่งปณิธานไซร้                     ช่วยให้งดงาม ๚ะ

๏ ความเมตตาเอ่อล้น                    กรุณา
ทรงเสด็จเยี่ยมพิมพา                     แม่เจ้า
หวังมอบซึ่งดวงตา                        แห่งพระ ธรรมนา
นางกราบกอดรัดเท้า                     ร่ำไห้ครวญคราง ๚ะ

๏ ทรงโปรดนางตื่นรู้                    หลุดพ้น
สำเร็จโสดาผล[๗๐]                            แจ่มแจ้ง
มีที่พึ่งแห่งตน                                 จิตเบิก บานนา
เศร้าโศกดับเหือดแห้ง                  ชาตินี้สมหวัง ๚ะ๛
๗ สิงหาคม ๕๖

๕๕.
ว่าด้วย : นันทกุมารออกบวช

–๏–

๏ ทุกเช้าเสด็จออกแล้ว                 บิณฑบาต
โปรดสัตว์ทุกวรรณชาติ               หน่อเนื้อ
ยื่นบุญยื่นโอกาส                           ให้แก่ สัตว์นา
จิตโอบอุ้มเอื้อเฟื้อ                         ช่วยเกื้อป้องกัน ๚ะ

๏ วันหนึ่งทรงเสด็จแล้ว               บิณฑบาต
ในเขตนันทนิวาสน์                       พระน้อง
วิวาห์ป่าวประกาศ                         ทราบทั่ว เมืองนา
ครองซึ่งรักร่วมห้อง                      สืบเชื้อพงษ์พันธุ์ ๚ะ

๏ ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว               โมทนา
ยื่นบาตรให้อนุชา                          รับไว้
นันทอุ้มติดตามมา                         ถึงวัด ถวายนา
ทรงสั่งบรรพชาให้                        จิตคล้อยเคลิมตาม ๚ะ

๏ ความทุกข์เศร้าเร่าร้อน             โหยหา
ถึงแม่ศรีภรรยา                              คู่ไซร้
บวชแล้วหลั่งน้ำตา                        ไม่อาจ อยู่นา
ทรงบอกธรรมแก้ให้                     ตื่นรู้เห็นธรรม ๚ะ๛
๗ สิงหาคม ๕๖

๕๖.
ว่าด้วย : ราหุลบรรพชา

–๏–

๏ ประทับกบิลพัสดุ์ได้                 เจ็ดวัน
เกิดเหตุการณ์สำคัญ                      กล่าวไว้
ราหุลยอดหลานขวัญ                    ถูกจับ บวชนา
เหตุแห่งพิมพาไซร้                        อยากได้ขุมทอง ๚ะ

๏ ทรงสนองตอบมอบให้             ปัญญา
ทราบแก่พระเจ้าตา                       ร่ำไห้
ทูลขอพระศาสดา                          นับแต่ นี้นา
จงอย่าบวชใครไซร้                       ก่อนได้มอบถวาย ๚ะ๛
๗ สิงหาคม ๕๖

๕๗.
ว่าด้วย : อนาถปิณฑิกเศรษฐี
สร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวาย

–๏–

๏ อนาถะเศรษฐีเกิดแล้ว              ปัญญา
จิตมากด้วยศรัทธา                        แก่กล้า
สำเร็จซึ่งโสดาฯ                            ทูลเสด็จ โปรดนา
สาวัตถีแหล่งค้า                             มากด้วยผู้คน ๚ะ

๏ พระทศพลรับแล้ว                     อาราธนา
ท่านเศรษฐีมุ่งหน้า                        ก่อนไซร้
เชตวันถูกสถาปนา                        เป็นวัด รอนา
เจ้าเชตแบ่งขายให้                         ค่าซื้อทองคำ ๚ะ

๏ นำทองปูทั่วได้                           ขายขาด
ท่านเศรษฐีสามารถ                      หว่านซื้อ
เจ้าเชตออกประกาศ                      ใช้ชื่อ ตนนา
ท่านเศรษฐีไม่ยื้อ                           จิตพร้อมยอมพลัน ๚ะ

๏ เชตวันชื่อนี้                                 เรียกขาน
เป็นเขตมหาวิหาร                          ใหญ่กว้าง
ทรงประทับอยู่นาน                       หลายสิบ ปีนา
บุญเศรษฐีได้สร้าง                        ก่อนสิ้นอายุขัย ๚ะ๛
๗ สิงหาคม ๕๖

๕๘.
ว่าด้วย : ศากยราช ๖ พระองค์ออกบวช

–๏–

๏ หกพระองค์บุตรเจ้า                   ศากยะ
มีภัททิยะอนุรุทธะ                         กษัตริย์เชื้อ
อานันทะกิมพิละ                           พระภัค คุนา
เทวทัตอีกหน่อเนื้อ                        บวชแล้วพร้อมกัน ๚ะ

๏ ครั้งนั้นทาสรับใช้                      อุบาลี[๗๑]
ออกบวชด้วยทันที                        พรั่งพร้อม
อุบาลีบวชก่อนดี                           เห็นชอบ ธรรมนา
ช่วยจิตเกิดอ่อนน้อม                     ลดได้ตัวตน ๚ะ

๏ พระทศพลบอกชี้                       ทางลัด
ต่างแจ่มแจ้งเห็นชัด                       ผ่านไซร้
เว้นแต่พระเทวทัต                         ไม่หลุด พ้นนา
ยึดแค่ฌานโลกีย์ไว้                       ห่อนได้ปัญญา ๚ะ

๏ ความอิจฉาเกิดแล้ว                   ในใจ
เทวทัตคิดผิดไป                             ต่ำช้า
หวังลาภเที่ยวก่อภัย                       ให้แก่ ตนนา
หลอกอชาตศัตรูคิดบ้า                  ฆ่าได้พ่อตน ๚ะ

๏ หวังผลเป็นใหญ่ไซร้                 ครองสงฆ์
บอกพระองค์ลาลง                        มอบให้
วางแผนฆ่าพระองค์                      ยุแยก สงฆ์นา
ถูกแผ่นดินสูบไซร้                        เหตุด้วยอิจฉา ๚ะ๛
๗ สิงหาคม ๕๖

๕๙.
ว่าด้วย : พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นพุทธมามกะ

–๏–

๏ อชาตศัตรูก่อไว้                         บาปกรรม
เหตุเชื่อพระระยำ                           ชั่วช้า
บาปหลอนหลอกทิ่มตำ                เช้าค่ำ ทุกข์นา
พลังแห่งธรรมดับบ้า                     ช่วยให้เบิกบาน ๚ะ

๏ ทรงให้ทานก่อสร้าง                  ความดี
หวังลบล้างอัปรีย์                           ก่อไว้
มอบกายมอบชีวี                            อุทิศ ศาสน์นา
พึ่งพระรัตนตรัยไซร้                     สุขแท้ไพบูลย์ ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๐.
ว่าด้วย : พระพุทธบิดาประชวร และนิพพาน

–๏–

๏ ทรงประทับนั่งใกล้                   บิดา
ทรงเสด็จอยู่รักษา                         ป่วยไข้
ทรงมอบซึ่งปัญญา                        ให้ดับ ทุกข์นา
ทรงช่วยสำเร็จไซร้                        ลุแล้วอรหันต์ ๚ะ

๏ คุณอนันต์สำเร็จแล้ว                 ตอบแทน
ส่งสู่นิพพานแดน                          เสร็จสิ้น
วัฏฏะ[๗๒] ดุจวงแหวน                     เปลื้องปลด ให้นา
หมู่ญาติร่ำไห้ดิ้น                            ปลอบให้จางคลาย ๚ะ

๏ ถวายพระเพลิงพระแก้ว            บิดา
ทรงจัดแจงจัดหา                           จัดให้
น้อมถวายเพื่อบูชา                         ซึ่งพระ คุณนา
ประกาศกตัญญูไซร้                      ทั่วหล้าได้เห็น ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๑.
ว่าด้วย: พระนางปชาบดีออกบวชเป็นพระภิกษุณี

–๏–

๏ ปชาบดี[๗๓] จิตน้อม                      บรรพชา
ทูลต่อพระศาสดา                          บวชให้
ทรงขัดปัดศรัทธา                          ไม่บวช ให้นา
ทรงโศกเศร้ามากไซร้                   ออกแล้วติดตาม ๚ะ

๏ ความทราบถึงท่านเข้า              อานนท์
ไม่อาจหลบอาจทน                       อยู่ได้
ทูลต่อพระทศพล                           ควรบวช ให้นา
หากบวชกิเลสร้าย                         ดับได้เช่นชาย ๚ะ

๏ หลายเกณฑ์หลายกฏห้าม         ครุธรรม
หากยึดถือยอมทำ                          บวชได้
แปดกฏแปดข้อจำ                         เป็นกฏ ห้ามนา
หากผิดเกิดโทษร้าย                      เสื่อมได้ศาสนา ๚ะ

๏ ปชาบดีบวชแล้ว                        ไม่นาน
เกิดซึ่งปัญญาญาณ                         ผ่องแผ้ว
พิมพาตัดสงสาร                            ออกบวช ด้วยนา
ภิกษุณีเกิดแล้ว                               ทั่วทั้งมณฑล ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๒.
ว่าด้วย : ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

–๏–

๏ เหตุเศรษฐีป่าวร้อง                    ท้าทาย
วางซึ่งกลอุบาย                              อยากรู้
แก่นจันทร์ค่ามากมาย                   ทำบาตร ไว้นา
หากเก่งจงเหาะกู้                            รับได้ปลายเสา ๚ะ

๏ หากเหาะเอาเชื่อแล้ว                 อรหันต์
ประกาศครบหกวัน                       เงียบไซร้
พระโมคฯ[๗๔] ทราบข่าวพลัน        ให้พระ เหาะนา
ท่านเศรษฐีถวายให้                       ข่าวฟุ้งทั่วเมือง ๚ะ

๏ เรื่องเหาะทรงล่วงรู้                    ติเตียน
ห้ามซึ่งพระริเรียน                         เล่นไซร้
ข่าวห้ามพวกพาเหียร                    รู้ทั่ว กันนา
ประกาศทั่วเมืองไว้                       เพื่อท้าลองดี ๚ะ

๏ ได้ทีคิดข่มแล้ว                          ศาสดา
หวังเรียกคืนศรัทธา                       กลับไซร้
พระองค์ทราบปัญหา                    แสดงซึ่ง ยมกนา
ปราบซึ่งเดียรถีย์ให้                       พ่ายแพ้สยบยอม ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๓.
ว่าด้วย : เสด็จโปรดพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์

–๏–

๏ ปาฏิหาริย์ผ่านพ้น                     ปัญหา
ทรงเสด็จโปรดมารดา                  ตรัสไว้
อยู่ตลอดหนึ่งพรรษา                    แสดงซึ่ง ธรรมนา[๗๕]
ณ ภพดาวดึงส์ไซร้                        ตรัสชี้ธรรมเนียม ๚ะ

๏ ทรงเตรียมเสด็จกลับแล้ว         โลกมนุษย์
หน้าที่ทรงสิ้นสุด                           กล่าวไว้
มารดาลุวิมุตติ                                ได้มรรค ผลนา
วันออกพรรษาไซร้                       เสด็จแล้วจากสวรรค์ ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๔.
ว่าด้วย : วันเทโวโรหนะ พระพุทธเจ้าเปิดโลก
เสด็จกลับจากดาวดึงส์เทวโลก[๗๖]

–๏–

๏ โมคคัลลาบอกแจ้ง                    ข่าวดี
ชาวโลกต่างเปรมปรีด์                  ตื่นเต้น
เขตสังกัสสะธานี                           ที่เสด็จ กลับนา
หนึ่งค่ำทรงหลีกเร้น                      เสด็จแล้วฉับพลัน ๚ะ

๏ จากสวรรค์สู่ภาคพื้น                 เมืองมนุษย์
ขบวนเสด็จวิเศษสุด                      เพริศแพร้ว
พรหมเทพเหล่ายักษ์ครุฑ              ต่างแวด ล้อมนา
ทรงเสด็จบันไดแก้ว                      เปิดแล้วภพสาม ๚ะ

๏ ความพิศดารกล่าวไว้                อัศจรรย์
ทุกภพภูมิเห็นกัน                           ทั่วหน้า
เปิดโลกเปิดนรกสวรรค์               เห็นชัด หมดนา
คนหลั่งไหลมืดฟ้า                         กราบไหว้บูชา ๚ะ๛
๘ สิงหาคม ๕๖

๖๕.
ว่าด้วย : ลำดับพรรษายุกาล

–๏–

๏ นับกาลแรกเริ่มต้น                    พรรษา
ทรงประทับอยู่ป่า                          อิสิฯ[๗๗] ไซร้
สองสามสี่เวฬุวนา                         ห้าที่ กุฏาฯ[๗๘] แฮ
ที่หกมกุลบรรฯ[๗๙] ใกล้                  เขตแคว้นไพศาฯ[๘๐] ๚ะ

๏ พรรษาที่เจ็ดนั้น                         ดาวดึงสา
ประทับเภสลาฯ[๘๑]                          แปดไซร้
เก้าประทับโฆสิตาฯ[๘๒]                  ที่สิบ ปาลิไลย์ฯ[๘๓] แล
สิบเอ็ดพราหมณ์ขอไว้                  อยู่บ้านนาลายฯ ๚ะ

๏ สิบสองไม้ร่มต้น                       ปจิฯ[๘๔]
ที่สิบสามจาลิย์ฯ[๘๕]                         กล่าวไว้
สิบสี่เชตวันวิฯ[๘๖]                            สาวัต ถีนา
ที่สิบห้านิโครธไซร้                      โปรดแล้วญาติกา ๚ะ

๏ พรรษาสิบหกนั้น                      อัคคาฯ[๘๗]
สิบเจ็ดเวฬุวนาฯ                            อีกไซร้
สิบแปดสิบเก้ามา                          อยู่ที่ จาลิย์ฯ แล
ยี่สิบเวฬุฯ กล่าวไว้                        เปลี่ยนย้ายกลับมา ๚ะ

๏ พรรษายี่สิบเอ็ดนั้น                   อยู่นาน
ยี่สิบสี่รวมกาล                               นับไว้
ประทับอยู่วิหาร                            เชตะ วันนา
เสด็จอยู่บุพพาฯ[๘๘] ไซร้                 เปลี่ยนย้ายสลับกัน ๚ะ

๏ เชตวันนั้นสิบเก้า                       พรรษา
อีกหกเสด็จบุพพาฯ                       กล่าวไว้
สุดท้ายที่ไพศาฯ                            ก่อนดับ ขันธ์นา
รวมสี่สิบห้าไซร้                            ครบถ้วนบริบูรณ์ ๚ะ๛
๙ สิงหาคม ๕๖

๖๖.
ว่าด้วย : พระอัครสาวกทูลลานิพพาน

–๏–

๏ สารีบุตรกราบแล้ว                    ทูลลา
ขอซึ่งพระตถา                               คตเจ้า
กลับบ้านเยี่ยมมารดา                    เพื่อนิพ พานนา
ทรงเสด็จลุกย่างก้าว                      ส่งแล้วทันที ๚ะ

๏ สารีบุตรกลับแล้ว                     ถึงเรือน
อยู่กับแม่เป็นเพื่อน                        ชิดใกล้
เจ็ดวันตอกย้ำเตือน                        ชี้ดับ ขันธ์นา
ต้องโปรดมารดาให้                      แจ่มแจ้งในธรรม ๚ะ

๏ น้ำคำของแม่นั้น                        มากคุณ
น้ำเลือดนมการุณ                          ช่วยไว้
น้ำใจยิ่งมากบุญ                             ชุบหล่อ เลี้ยงนา
โปรดแม่สู่ธรรมไซร้                    ชดใช้ไม่พอ ๚ะ

๏ เฝ้ารอจิตแม่นั้น                          ศรัทธา
จึงมอบแสงปัญญา                         ส่งให้
พระธรรมเบิกนัยน์ตา                   ให้สว่าง เห็นนา
เสร็จกิจลูกพระไซร้                      ดับแล้วสังขาร ๚ะ

๏ กาลต่อมากล่าวไว้                     อีกองค์
พระโมคฯ จิตประสงค์                 ละไซร้
เหตุเกิดถูกปองปลง                       หวังฆ่า ตายนา
กรรมเก่า[๘๙] ส่งผลให้                      ชดใช้ทรมาน ๚ะ

๏ เข้าฌานเพื่อหอบหิ้ว                  สังขาร
ก้มกราบลานิพพาน                       ดับไซร้
จบสิ้นเหมาะด้วยกาล                    ควรแก่ ดับนา
ทรงตรัสประทานให้                     สู่ห้องแดนธรรม ๚ะ๛
๙ สิงหาคม ๕๖

๖๗.
ว่าด้วย : ทรงปรารภชราธรรม และปลงอายุสังขาร

–๏–

๏ แปดสิบปีล่วงแล้ว                     พรรษา
พระธาตุขันธ์ศาสดา                     เสื่อมแล้ว
ดั่งเกวียนเก่าใช้มา                          ย่อมผุ พังนา
เป็นเช่นนี้ไม่แคล้ว                         หลีกพ้นความจริง ๚ะ

๏ ทุกสิ่งทรงตรัสไว้                      ครบถ้วน
หาขาดตกเชื้อชนวน                      แก่นไซร้
บัดนี้ถูกรบกวน                             โรคบีบ คั้นนา
หากบ่มอิทธิบาท[๙๐] ไว้                   อยู่ได้อีกนาน ๚ะ

๏ อาการเจ็บป่วยไข้                      ธรรมดา
หาเลือกองค์ศาสดา                       ยกเว้น
ถึงเขตแห่งเวลา                              ทุกธาตุ ขันธ์นา
ย่อมแตกสลายตรัสเน้น                บอกแล้วอานนท์ ๚ะ

๏ มารดลจิตปิดกั้น                        อานนท์
ลืมคิดลืมฉุกฉงน                           ห่อนไซร้
ลืมขอต่อพระชนม์                         ให้อยู่ ต่อนา
มารต่างคอยท่าไว้                          บอกให้นิพพาน ๚ะ

๏ มารถือสิทธิ์กล่าวอ้าง               ทันควัน
เคยรับสัญญามั่น                            ตรัสไว้
หากสอนทั่วครบครัน                   ธรรมแผ่ ขยายนา
จะละสังขารไซร้                           บัดนี้ถึงกาล ๚ะ

๏ ทรงประทานรับแล้ว                 อาราธนา
ต่อแต่นี้สามเดือนลา                     ละไซร้
ทรงเสด็จสู่ปาวา                            เพื่อโปรด สัตว์นา
หมู่เทพรู้ร่ำไห้                                โศกเศร้าอาลัย ๚ะ๛
๑๐ สิงหาคม ๕๖

๖๘.
ว่าด้วย : ทรงแสดงอภิญญาเทสิตธรรม
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง
หมายถึง โพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ[๙๑]

–๏–

๏ แก่นธรรมตรัสครบแล้ว           พึงเรียน
จงขุดค้นพากเพียร                         เสพไว้
พรหมจรรย์จะเสถียร                    จักมั่น คงนา
ตั้งอยู่ตลอดกาลไซร้                     โลกนี้สงบเย็น ๚ะ

๏ จักเป็นไปเพื่อเกื้อ                      กูลโลก
ประโยชน์สุขมหาโชค                  เกิดไซร้
ดับกิเลสทุกข์โศก                          แก่มนุษย์ เทพนา
ยังหมู่มหาชนให้                            หมดสิ้นปัญหา ๚ะ

๏ ปัญญาธรรมตรัสแล้ว               ครบครัน
โพธิปักขิยะนั้น                              ผ่องแผ้ว
ศึกษาทุกบทขัณฑ์                         ย่อมดับ ทุกข์นา
ทุกธาตุขันธ์เสื่อมแล้ว                  แต่ล้วนอนิจจัง ๚ะ

๏ ยังประโยชน์โลกให้                  เกิดผล
อีกประโยชน์ของตน                    อย่าช้า
สิ่งใดเกิดกุศล                                 รีบเร่ง คว้านา
กาลล่วงสามเดือนหน้า                 จักได้ดับขันธ์ ๚ะ

๏ มนุษย์สัตว์นั้นแต่ล้วน              ต้องตาย
หนุ่มแก่รวยดีร้าย                          ทั่วหน้า
หม้อดินย่อมแตกสลาย                 เปรียบเช่น เรานา
ผู้ไม่ประมาทบ้า                             ละได้สงสาร ๚ะ๛
๑๓ สิงหาคม ๕๖

๖๙.
ว่าด้วย : บิณฑบาตครั้งสุดท้าย[๙๒]

–๏–

๏ นายจุนทะทราบแล้ว                 เสด็จมา
รีบจัดเตรียมจัดหา                         ภัตไว้
น้อมถวายแด่ศาสดา                     ทรงรับ เสวยนา
เรียกภัตสุดท้ายไซร้                      ก่อนเข้านิพพาน ๚ะ

๏ อาการแห่งโรคนั้น                    บีบคั้น
หลังจากเสวยภัตพลัน                   เสร็จไซร้
โรคโลหิตปักขันท์ฯ[๙๓]                   กำเริบ ขึ้นนา
ทรงสงบนิ่งข่มไว้                          เสด็จแล้วดำเนิน ๚ะ

๏ ทรงสรรเสริญตรัสไว้               โมทนา
ซึ่งภัตแห่งศรัทธา                          ก่อไว้
จุนทะสุชาดา                                  เป็นยอด ภัตนา
มากซึ่งผลบุญไซร้                         ยกไว้เหนือทาน ๚ะ๛
๑๐ สิงหาคม ๕๖

๗๐.
ว่าด้วย : อนุฏฐานไสยา[๙๔]
ทรงบรรทมสีหไสยา เป็นวาระสุดท้าย
และประทานโอวาทธรรม

–๏–

๏ พระโลกนาถเสด็จแล้ว             ตลอดวัน
ข้ามแม่น้ำหิรัญฯ[๙๕]                         ผ่านไซร้
มุ่งสู่กุสิฯ[๙๖] พลัน                            เสด็จเรื่อย ต่อนา
เข้าสู่สาละฯ[๙๗] หยุดไว้                   พักแล้ววรกาย ๚ะ

๏ อานนท์ถวายนวดให้                 เบาเบา
ถูกแดดกล้าแผดเผา                      เกือบไหม้
ทรงเรียกช่วยนำเอา                       ผ้าลาด ปูนา
ระหว่างไม้รังไซร้                          เสด็จแล้วบรรทม ๚ะ

๏ ทรงห่มผ้าปิดไว้                         วรกาย
เป็นท่านอนสุดท้าย                       พุทธเจ้า
สีหไสย์นิมิตรหมาย                      ไม่เสด็จ ลุกนา
ต่อแต่นี้ไม่ก้าว                               เสด็จแล้วดำเนิน ๚ะ

๏ ทรงเจริญสติตื่นรู้                       ปล่อยวาง
ทรงเหนื่อยระหว่างทาง                มากไซร้
แดดร้อนเริ่มเบาบาง                      สงฆ์เงียบ สงบนา
ราวถูกมนต์สะกดไว้                     ต่างรู้อนิจจัง ๚ะ

๏ ดอกรังร่วงหล่นแล้ว                 บูชา
เหล่าเทพเสด็จลงมา                       กราบไหว้
ทรงตรัสเรื่องศรัทธา                     อามิส ควรนา
ปฏิบัติบูชาได้                                แก่นแท้กุศล ๚ะ

๏ สี่ตำบลหากแม้                          บูชา
ที่ประสูติศาสดา                            ตรัสรู้
ที่ปฐมเขตเทศนา                           ที่นิพ พานนา
มากซึ่งบุญแก่ผู้                              เชื่อแล้วนมัสการ ๚ะ

๏ ทั้งสี่สถานแห่งนี้                       ผู้ใด
มีจิตเชื่อเลื่อมใส                             ละแล้ว
มีสุคติที่ไป                                     ไม่ตก นรกนา
เป็นบ่อบุญสถานแก้ว                   ตรัสไว้ฝากความ ๚ะ

๏ อานนท์ถามเพื่อรู้                       แจ้งชัด
ทรงพระเมตตาตรัส                       บอกไว้
รวมทั้งเรื่องปฏิบัติ                         ต่อพระ ศพนา
ตามแบบจักรพรรดิไซร้               ตรัสชี้ธรรมเนียม ๚ะ

๏ ส่วนสงฆ์เตรียมเร่งไว้               ความเพียร
หมั่นศึกษาเล่าเรียน                       มากไว้
ปฏิบัติตัดให้เตียน                          เพื่อหลุด พ้นนา
เรื่องจัดเตรียมยกให้                       กษัตริย์ไซร้ขวนขวาย ๚ะ

๏ ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว           นำไป
พระธาตุตั้งทางใหญ่                      สถูปสร้าง
คนจากทิศใกล้ไกล                       ได้กราบ ไหว้นา
บุญเกิดมิโรยร้าง                            แก่ผู้ศรัทธา ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๑.
ว่าด้วย : ประทานโอวาท
และทรงตรัสสรรเสริญพระอานนท์[๙๘]

–๏–

๏ พระอานนท์ร่ำไห้                      ยืนอยู่
แนบชิดข้างประตู                          โศกเศร้า
คิดสังเวชอดสู                                ความโง่ ตนนา
คอยติดตามนั่งเฝ้า                          ห่อนรู้เห็นธรรม ๚ะ

๏ กรรมหนอกรรมร่ำไห้              เสียใจ
พระจะจากลาไกล                         ละแล้ว
ยังติดขัดสงสัย                               ไม่หลุด พ้นนา
ภพชาติคงไม่แคล้ว                        เกิดแล้วเวียนวน ๚ะ

๏ พระทศพลล่วงรู้                        ตรัสเตือน
การแตกสลายย่อมเหมือน            ทั่วหน้า
อีกไม่กี่วันเดือน                             ท่านย่อม ลุนา
หาใช่เรื่องล้าช้า                              อย่าได้กังวล ๚ะ

๏ พระทศพลตรัสชี้                       สรรเสริญ
หายากผู้ฉลาดเกิน                         ท่านไซร้
อานนท์ร่วมออกเผชิญ                  สุขทุกข์ ตลอดนา
เบาหนักล้วนรับไว้                        รอบรู้เหตุการณ์ ๚ะ

๏ ธรรมทานท่านกล่าวได้            งดงาม
ทั้งกษัตริย์แพทย์พราหมณ์           แซ่ซ้อง
ต่างล้วนเชื่อฟังความ                     ไม่เบื่อ ท่านนา
ทรงประกาศเกียรติก้อง                เลิศแล้วอานนท์ ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๒.
ว่าด้วย : พระอานนท์ทูลเสด็จปรินิพพานที่เมืองอื่น

–๏–

๏ พระอานนท์นั่งใกล้                   อุปัฏฐาก
ทูลบอกกลัวลำบาก                       ยากไซร้
กุสิฯ[๙๙] คับแคบมาก                       ควรเปลี่ยน ย้ายนา
ที่นิพพานเมืองใกล้                        ใหญ่กว้างมากมี ๚ะ

๏ ทรงตรัสชี้ผิดแล้ว                      อานนท์
แต่ก่อนกุสิฯ คน                            มากไซร้
เป็นเมืองใหญ่มหาชน                    สงบสุข เจริญนา
ต่างยึดคุณธรรมไว้                        ก่อสร้างทางสวรรค์ ๚ะ

๏ ครั้นแล้วทรงตรัสให้                 แจ้งข่าว
ถึงเหล่ามัลลกษัตริย์เจ้า                 ทราบไว้
กษัตริย์ต่างทราบเรื่องราว            ทรงเสด็จ เฝ้านา
ล้วนโศกเศร้าร่ำไห้                       กราบไหว้บูชา ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๓.
ว่าด้วย : โปรดสุภัททปริพาชก ปัจฉิมสาวก[๑๐๐]

–๏–

๏ ปริพาชกชื่อนั้น                          สุภัททะ
ท่องเที่ยวไม่ลดละ                         ซักไซร้
ทุกครูทุกสมณะ                             ทั่วทุก ทิศนา
ไม่อาจแก้ดับให้                             หมดสิ้นกังขา ๚ะ

๏ หวังเข้าหากราบไหว้                 ทูลถาม
เพื่อแจ่มแจ้งเนื้อความ                   ขัดข้อง
อานนท์บอกห้ามปราม                 ควรงด ไว้นา
ทรงตรัสประกาศก้อง                   อย่าได้ห้ามเลย ๚ะ

๏ ทรงเฉลยชัดทุกข้อ                    ไต่ถาม
หากเชื่อปฏิบัติตาม                        หลุดพ้น
อรหันต์เกิดทุกยาม                        ไม่หมด โลกนา
มรรคแปดนี้เลิศล้น                       แก่นแท้พรหมจรรย์ ๚ะ

๏ ทรงตรัสพลันแจ่มแจ้ง              เบิกบาน
สุภัททะต้องการ                            บวชให้
บวชแล้วชั่วอึดกาล                       จิตหลุด พ้นนา
เป็นปัจฉิมบุตรไซร้                       ล่วงรู้ทันกาล ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๔.
ว่าด้วย : โปรดให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ

–๏–

๏ อานนท์คิดกลัดกลุ้ม                  กังวล
ฉันนะสุดเกินทน                           บอกไซร้
เป็นข้าเก่าถือตน                            ไม่เชื่อ ฟังนา
หากปล่อยปละทิ้งไว้                     ก่อได้ปัญหา ๚ะ

๏ พระศาสดาตรัสให้                    ลงทัณฑ์
งดเกี่ยวข้องกวดขัน                       ปล่อยไว้
งดร่วมอยู่ร่วมฉัน                          อย่าบอก สอนนา
จิตอาจสำนึกไซร้                          เปลี่ยนได้สันดาน ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๕.
ว่าด้วย : พระธรรมวินัย คือ องค์ศาสดาแทนพระองค์

–๏–

๏ พระศาสดาตรัสให้                    โอวาท
หากภิกษุประมาท                         คิดไซร้
เที่ยวหาท่านผู้ฉลาด                      ประกาศ ตนนา
เป็นพระศาสดาไว้                         แต่งตั้งผู้นำ ๚ะ

๏ ธรรมวินัยสิ่งนี้                           ศาสดา
จงอย่าเที่ยวค้นหา                          ผิดไซร้
ทุกบททุกมาตรา                            บัญญัติ ไว้นา
เคารพรักษาไว้                               เทียบได้พระองค์ ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๖.
ว่าด้วย : ปัจฉิมโอวาท

–๏–

๏ ทรงตรัสเตือนตอกย้ำ                สุดท้าย
ว่าทุกสิ่งทั้งหลาย                           เสื่อมไซร้
ย่อมแตกดับลับหาย                      ทุกธาตุ ขันธ์นา
จงอย่าประมาทไว้                         จักได้สิ้นกรรม ๚ะ๛
๑๒ สิงหาคม ๕๖

๗๗.
ว่าด้วย : เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน[๑๐๑]

–๏–

๏ เพ็ญเดือนหกเสด็จแล้ว              นิพพาน
ใกล้รุ่งราตรีกาล                            ผ่านไซร้
ออกจากจตุตถฌาน                       เสด็จดับ ขันธ์นา
หมู่มนุษย์เทพร่ำไห้                       โศกเศร้าอาลัย ๚ะ

๏ แผ่นดินไหวเกิดแล้ว                 อัศจรรย์
เพลงทิพย์บันลือลั่น                       กึกก้อง
ท้าวสักกะแห่งสวรรค์                  ประกาศ คุณนา
สรรพสิ่งล้วนแต่ต้อง                    เกิดแล้วดับสลาย ๚ะ

๏ ดอกไม้ทิพย์กลิ่นฟุ้ง                  โปรยปราย
ปลิวว่อนบูชาถวาย                        ทั่วฟ้า
แสงทิพย์พุ่งกระจาย                      สาดส่อง ทั่วนา
มนุษย์เทพทุกทั่วหน้า                    ต่างร้องคร่ำครวญ ๚ะ

๏ เจ็ดวันถ้วนครบแล้ว                  บูชา
พระกัสสปวันทา                           เสร็จสิ้น
เตโชธาตุเทวา                                ลุกท่วม ทั่วนา
มนุษย์เทพต่างร้องดิ้น                   หมดสิ้นแสงธรรม ๚ะ๛
๑๓ สิงหาคม ๕๖

เชิงอรรถ.-

[๑] สุเมธดาบส ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
[๒] ปัญจมหาวิโลกนะ ข้อควรตรวจดูก่อนเสด็จจุติ ๕ ประการ
กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล มารดา
[๓]  พระนางสิริมหามายา เป็นพระพุทธมารดา
[๔]  ศัพท์เต็มนิยมเรียกว่า สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล
[๕]  อาสภิวาจา วาจาแสดงความเป็นผู้ประเสริฐ
ทรงประสูติแล้วเสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว แล้วทรงตรัสประกาศไว้
[๖]  ประสูติได้ ๕ วัน ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์ และถวายพระนาม มี ๒ พระนาม คือ อังคีรส เพราะมีพระรัศมีโอภาสออกจากพระสรีรกาย ๑ สิทธัตถะ เพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดั่งพระประสงค์ ๑ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ
[๗]  พราหมณ์ทั้ง ๘ พยากรณ์เป็นสองนัยว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยกเว้นโกณฑัญญพราหมณ์หนุ่มที่พยากรณ์ว่า จะต้องเสด็จออกบวชและตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
[๘]  กบิลพัสดุ์ ตั้งชื่อเมืองตามชื่อของกบิลดาบส
[๙]  พระนางพิมพา เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ
เจ้าเมืองกรุงเทวทหนคร น้องสาวของพระเทวทัต
[๑๐]  เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในขณะเสด็จประพาสนคร
[๑๑]  อาฬารดาบส ทรงสำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓
[๑๒]  อุทกดาบสรามบุตร ทรงสำเร็จสมาบัติ ๘ เพิ่มเป็นอรูปฌาน ๔
[๑๓]  อุรุเวลาเสนานิคม
[๑๔]  บำเพ็ญทุกกรกิริยา เป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ
[๑๕]  ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มี พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ
[๑๖]  ศัพท์เต็มว่า อานาปานสติ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
[๑๗]  พระอินทร์ทรงดีดพิณถวาย
[๑๘]  ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
[๑๙]  ในยามราตรีของคืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์บรรทมหลับจนเวลาใกล้รุ่ง ทรงสุบินนิมิต ๕ ประการ คือ
๑.ทรงสุบินนิมิตว่า นอนหงายบนพื้นปฐพี มีภูเขาหิมพานต์เป็นเขนยพระพาหาซ้ายจมลงไปในมหาสมุทรทิศบูรพา พระพาหาขวาหยั่งลงไปในมหาสมุทรด้านทิศปัจฉิม
และพระบาททั้งสองหยั่งลงไปในมหาสมุทรด้านทิศทักษิณ
๒.ทรงสุบินนิมิตว่า มีหญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกขึ้นจากพระนาภี(สะดือ) สูงขึ้นไปถึงท้องฟ้า
๓.ทรงสุบินนิมิตว่า หมู่หนอนเป็นอันมากมีสีขาวบ้างสีดำบ้าง
ไต่ขึ้นมาจากปลายพระบาททั้งคู่ ปิดลำพระชงฆ์(แข้ง) ตลอดจนถึงพระชานุ(เข่า)
๔.ทรงสุบินนิมิตว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง เขียวแดงและสีดำ
บินมาจากทิศทั้ง ๔ ลงมาหมอบแทบพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปหมดทั้งสิ้น
๕.ทรงสุบินนิมิตว่า  พระองค์เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาที่เปรอะเปื้อนเต็มด้วยมูตรคูถ(ปัสสาวะอุจจาระ)  แต่พระบาทของพระองค์ มิได้เปื้อนด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย
เมื่อทรงตื่นจากบรรทมแล้ว พระองค์ก็เริ่มพยากรณ์ไปตามลำดับว่า
สุบินนิมิตข้อที่ ๑ เป็นนิมิตว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นผู้เลิศในโลก ทั้ง ๓ ได้แก่ กามโลก  รูปพรหมโลกและอรูปพรหมโลก
สุบินนิมิตข้อที่ ๒ เป็นนิมิตว่า พระองค์จะได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนา
อริยมรรคมีองค์ ๘ แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งปวง
สุบินนิมิตข้อที่ ๓ เป็นนิมิตว่า หมู่คฤหัสถ์ พราหมณ์และชนทั้งหลาย
ที่นุ่งผ้าขาวจะมาสู่สำนักของพระองค์และดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์
สุบินนิมิตข้อที่ ๔ เป็นนิมิตว่า วรรณะทั้ง ๔ เมื่อสละเพศฆราวาสมาบรรพชาในพระธรรมวินัย
และจะได้บรรลุวิมุตติธรรมอันประเสริฐบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสโดยเท่าเทียมกัน
สุบินนิมิตข้อที่ ๕ เป็นนิมิตว่า พระองค์จะบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ
ที่ชาวโลกทั่วทุกทิศพากันนำมาถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใส
แต่พระองค์มิได้มีพระทัยติดอยู่ในลาภสักการะเหล่านั้นให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย
[๒๐]  ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวที่หุงด้วยนมวัว มีกรรมวิธีทำหลายขั้นตอน
[๒๑]  ไม้สาละก็เรียก
[๒๒]  เดิมชื่อว่าต้น “อัสสัตถพฤกษ์”
แต่ที่เรียกกันว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์เพราะพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชนิดนี้
ด้วยเหตุนี้คำว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” จึงไม่ใช่ชื่อพันธุ์ของต้นไม้
ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นอะไร ต้นไม้นั้นก็จะได้ชื่อว่า
“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทั้งสิ้น เป็นต้นไม้สหชาติ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบัน ที่ขึ้นอยู่
ณ สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตำบลพุทธคยา
เป็นต้นที่ ๔ ซึ่งแตกหน่อมาจากต้นเดิมปัจจุบันมีอายุร้อยกว่าปี
[๒๓] บารมี ๑๐ หรือ ทศบารมี แปลว่า ปฏิปทาอันยวดยิ่ง,
คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด
คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง
เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น
๑ ทาน  ๒.ศีล  ๓.เนกขัมมะ  ๔.ปัญญา  ๕.วิริยะ  ๖.ขันติ  ๗.สัจจะ
๘.อธิษฐาน ๙.เมตตา ๑๐.อุเบกขา บารมีนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น
คือ ๑. บารมี        ๒. อุปบารมี  ๓. ปรมัตถบารมี
บำเพ็ญทั้ง ๑๐ บารมี ครบ ๓ ขั้นนี้ เรียกว่า สมตึสปารมี
หรือ สมดึงสบารมี แปลว่า บารมี ๓๐ ทัศ
[๒๔]  พญาวัสวดีมาร เป็นมารที่คอยขัดขวางการตรัสรู้ธรรม
ตั้งแต่วันออกบวช ก่อนตรัสรู้ และอาราธนาให้เสด็จปรินิพพาน
[๒๕]  ฌาน ๔ มี ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑
[๒๖]  ญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ
๑.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้, ระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย
อันเป็นไปตามกรรม, เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย
เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ
๓.  อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย,
ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ, ความตรัสรู้
[๒๗]  ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก, ความร่านรน มี ๓ คือ
กามตัณหา ๑  ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑
[๒๘]  รัตนบัลลังก์ ประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์บนพระแท่นวัชรอาสน์สิ้น ๗ วัน
[๒๙]  อนิมิสเจดีย์ ที่ทรงประทัยยืนจ้องพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์สิ้น ๗ วัน ในทิศอีสาน
[๓๐]  รัตนจงกรมเจดีย์ ที่ทรงนิรมิตทางเดินจงกรม ๗ วัน ในทิศอุดร
[๓๑]  รัตนฆรเจดีย์ ที่เทพยดานิรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฏก
สิ้น ๗ วัน ในทิศปัจฉิมหรือพายัพ
[๓๒]  ธิดาพญามาร มี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี
[๓๓]  มุจลินท์ ก็เรียก ตั้งอยู่ทิศบูรพาหรืออาคเนย์
[๓๔]  หรือต้นราชายตนะ อยู่ทิศทักษิณ
[๓๕]  มิได้เสวยพระกระยาหารนับตั้งแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วัน
ท้าวสักกะจึงน้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถ เพื่อทรงพระบังคน
[๓๖]  ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง
[๓๗] บุคคล ๔ จำพวก คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
๒. วิปจิตัญญู ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อท่านขยายความ
๓. เนยยะ ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้
๔. ปทปรมะ ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย
พระอรรถกถาจารย์เปรียบบุคคล ๔ จำพวกนี้กับดอกบัว ๔ เหล่าตามลำดับ คือ
๑. ดอกบัวที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้
๒. ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
๓. ดบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำจักบานในวันต่อๆ ไป
๔. ดอกบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า
[๓๘]  สติปัฏฐาน ๔ มี
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑
เวนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑
[๓๙]  ศัพท์เต็มว่า อิสิปตนมฤคทายวัน
[๔๐]  ศัพท์เต็มว่า อุปกชีวก
[๔๑]  ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แสดงถึง ส่วนที่สุดสองอย่าง ที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ
อันได้แก่ “กามสุขัลลิกานุโยค” คือการหมกมุ่นอยู่ในกาม
และ “อัตตกิลมถานุโยค” คือการทรมานตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์
มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์
ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่
คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
[๔๒]  ศัพท์เต็มว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[๔๓]  ศัพท์เต็มว่า พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร
[๔๔] ศัพท์เต็ม พระอัญญาโกณฑัญญะ
หลังได้บรรลุธรรมแล้ว พระองค์ทรงเรียก เพิ่มว่า อัญญา
[๔๕] อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ
มี ๔ ทุกขอริยสัจ ๑ สมุทัยอริยสัจ ๑ นิโรธอริยสัจ ๑ มรรคอริยสัจ ๑
[๔๖] ขันธ์ ๕ มี รูป๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ หรือรูปนามก็เรียก
[๔๗]  อริยมรรค ๘ มี สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา วาจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ๑
[๔๘]  พระรัตนตรัย แปลว่า แก้วสามประการ มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
[๔๙]  อดีตชาติท่านเคยเป็นสัปเหรอ เผาศพคน
[๕๐]  อนุปุพพิกถา ปฏิปทาเบื้องต้น
มี ๕ ทาน ๑ ศีล ๑ สวรรค์ ๑ กามาทีนพ ๑ เนกขัมมานิสงส์ ๑
[๕๑]  กามคุณมี ๕ คือ รูป ๑ รส ๑ กลิ่น ๑ เสียง ๑ สัมผัส ๑
[๕๒]  พระอรหันต์ชุดแรกที่ส่งไปประกาศพระศาสนามี ทั้งหมด ๖๑ รูป รวมทั้งพระองค์
[๕๓]  ศัพท์เต็มว่า อุรุเวลาเสนานิคม
[๕๔]  ศัพท์เต็มว่า อุรุเวลาเสนานิคม หรือ อุรุเวลาประเทศ
[๕๕]  ศัพท์เต็มว่า อุรุเวลกัสสปะ
[๕๖]  ศัพท์เต็มว่า นทีกัสสปะ
[๕๗]  ศัพท์เต็มว่า คยากัสสปะ
[๕๘]  ศัพท์เต็มว่า เนรัญชรา เป็นชื่อแม่น้ำ
[๕๙]  วัดเวฬุวันมหาวิหาร
[๖๐]  ศัพท์เต็มว่า พระอุรุเวลกัสสปเถระ
[๖๑]  อัครสาวก แปลว่า สาวกผู้เลิศ,
สาวกผู้ยอดเยี่ยม หมายถึง พระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา)
และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)
[๖๒]  อุปติสสะหรือ พระสารีบุตร บวชแล้ว๑๕ วันจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
โกลิตะ หรือ พระโมคคัลลานะ บวชแล้ว ๗ วันจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
[๖๓]  ศัพท์เต็มว่า สัญชัยปริพาชก
[๖๔]  โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
เป็น “ปาติโมกข์” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓)
หลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ
โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ
คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้น
ได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย,
พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง,
พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖,
ปัจจุบันเรียกว่าวันมาฆบูชา
[๖๕]  ศัพท์เต็มว่า นิโครธาราม
[๖๖]  ฝนโบกขรพรรษ เป็นฝนสีแดงที่ใครปรารถนาให้เปียกก็เปียก ไม่ให้เปียกก็ไม่เปียก
[๖๗]  บุพพชาติสมัยที่เป็นพระเวสสันดร ทรงแสดงเวสสันดรชาดก
[๖๘]  ศัพท์เต็มว่า อนาคามี
[๖๙]  พุทธจริยา พระจริยาวัตรปกติของพระพุทธเจ้า
๑. โลกัตถจริยา พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
๒. ญาตัตถจริยา คือ พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่พระประยูรญาติ
๓. พุทธัตถจริยา คือ พระจริยาที่เป็นประโยชน์ตามหน้าที่เป็นพระพุทธเจ้า
[๗๐]  ศัพท์เต็มว่า โสดาปัตติผล
[๗๑]  อุบาลี เป็นช่างตัดผม
[๗๒]  วัฏสงสาร มี ๓ กิเลส ๑ กรรม ๑ วิบาก ๑
[๗๓]  ศัพท์เต็มว่า พระนางปชาบดีโคตมี เคยเป็นพระน้านาง และแม่นมเลี้ยงดูพระพุทธเจ้า
[๗๔]  ศัพท์เต็มว่า พระโมคคัลลานะ ให้ พระปิณโฑลภารทวาชะ
พระหลานชายเหาะไปเอาบาตรไม้แก่นจันทร์
[๗๕] พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระอภิธรรมแก่พระมารดาตลอด ๓ เดือน
มิได้หยุดพักเลย ในเวลาภัตตกิจ ก็ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าองค์แทน (พุทธนิมิต)
ให้แสดงพระอภิธรรมแทน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดา
ตลอดพรรษา กาลเมื่อพระพุทธองค์ ทรงแสดงสัตตปกรณาภิธรรมเทศนาจบลง
องค์พระสิริมหามายาเทวบุตรพุทธมารดา ได้ฟังธรรมจนดวงตาเห็นธรรมแล้ว
ทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด
[๗๖]   เทวดาเนรมิตบันไดทอง บันไดแก้ว บันไดเงินถวาย ทรงเสด็จโดยบันแก้ว
[๗๗]  ศัพท์เต็มว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[๗๘]  ศัพท์เต็มว่า กูฏาคาร ศาลาป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี
[๗๙]  ศัพท์เต็มว่า มกุลบรรพต
[๘๐]  ศัพท์เต็มว่า ไพศาลี
[๘๑]  ศัพท์เต็มว่า เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด ใกล้กรุงสุงสุมารคีรี ในภัคคราฐ
[๘๒]  ศัพท์เต็มว่า โฆสิตาราม
[๘๓]  ศัพท์เต็มว่า ปาลิไลยวันสถาน อาศัยกุญชรชาติชื่อว่า ปาลิไลยหัตถี ทำวัตรปฏิบัติ
[๘๔] ศัพท์เต็มว่า ปจิมมันทพฤกษ์ (ไม้สะเดา)
อันเป็นรุกขพิมานของ นเฬรุยักษ์ใกล้พระนครเวรัญชา บางแห่งเรียก ปุจิมันทพฤกษ์
[๘๕] ศัพท์เต็มว่า จาลิยบรรพต
[๘๖] ศัพท์เต็มว่า พระเชตวันวิหาร
[๘๗] ศัพท์เต็มว่า อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้อาฬวีนคร
หลังจากทรงทรมานอาฬวกยักษ์สิ้นพยศแล้ว
[๘๘] ศัพท์เต็มว่า บุพพาราม ของท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา สร้างถวาย
[๘๙]  ชาติก่อนท่านเคยทุบตีมารดา จึงถูกโจรห้าร้อยคนลอบทำร้าย จนกระดูกแตกทั้งร่าง
[๙๐]  อิทธิบาท ๔ ประการ เจริญแล้วสามารถมีอายุถึงกัปหนึ่ง หรือมากกว่านั้นได้
[๙๑]  โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘
[๙๒]  นายจุนทะ น้อมถวายสูกรมัทวะ เป็นอาหารที่ทำจากเห็ดชนิดหนึ่งที่ย่อยยาก
[๙๓]   ศัพท์เต็มว่า โรคโลหิตปักขันทิกาพาธ ลงพระโลหิต คือ ถ่ายเป็นเลือด
[๙๔]  อนุฐานไสยาสน์ เป็นการนอนที่จะไม่เสด็จลุกอีก
[๙๕]  ศัพท์เต็มว่า แม่น้ำหิรัญวดี
[๙๖]  ศัพท์เต็มว่า กุสินารา
[๙๗]  ศัพท์เต็มว่า สาลวัน
[๙๘]  พระอานนท์สมัยที่เป็นพุทธอุปัฏฐากสำเร็จแค่พระโสดาบัน
ท่านสำเร็จพระอรหันต์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว ก่อนการทำปฐมสังคายนา
ในอริยาบทเอนตัวพัก เพราะท้อต่อการปฏิบัติ
[๙๙]  ศัพท์เต็มว่า กุสินารา
[๑๐๐]  สุภัททะปริพพาชก เป็นผู้ที่ได้รับยกเว้น
โดยไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ก่อนอุปสมบท ติตถิยปริวาส
คือ การกักตัวตามพระวินัยของผู้ที่เคยถือบวชในลัทธิอื่นมาก่อน
[๑๐๑] เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทเป็นวาระสุดท้าย
แล้วก็หยุดมิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำพระนิพพาน
บริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลม (ตามลำดับ) ดังนี้

ทรงเข้าปฐมฌาน  (ฌานที่ ๑ )  ออกจากปฐมฌานแล้ว
ทรงเข้าทุติยฌาน  (ฌานที่ ๒) ออกจากทุติยฌานแล้ว
ทรงเข้าตติยฌาน  (ฌานที่ ๓)  ออกจากตติยฌานแล้ว
ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔)  ออกจากจตุตถฌานแล้ว
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ  ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ  ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ๙  อันเป็นนิโรธสมาบัติที่มีอาการสงบที่สุด
ถึงดับสัญญาและเวทนา คือไม่รู้สึก    ทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออก
ก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเช่นพระอานนท์เข้าใจว่า
พระบรมศาสดาเข้าสู่นิพพานแล้ว แต่พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติ
ชี้แจงว่าบัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ใน สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมยาม
แล้วย้อนจากปฐมยาม   ขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย จึงปรินิพพานอยู่ในฌาน
เป็นธรรมเนียมนิยมทั่วไปเพราะขณะอยู่ในฌาน
อานุภาพของฌานย่อมรักษาตลอดเวลาที่ยังดำรงอยู่ในฌานนั้น  ๆ
เป็นการนิพพานโดยไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน
พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ
ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา
แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ใน เมืองกุสีนคร)
แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ฯ

พระครูปิยธรรมวิเทศ
๒๕ กรกฏาคม ๒๕๕๖
วัดพระมหาชนก บ้านพลังเพียร