ข้อคิด บทกวีข้าวก้นบาตร ๒

๏ สู้

อย่ายอมพ่าย อายโลก อย่าโศกเศร้า
อย่ายอมเหงา เศร้าใจ ให้อายฟ้า
อย่าบ่นเมื่อย เหนื่อยจิต คิดเลิกลา
สู้จนกว่า คว้าชัย ไว้ชื่นชม ฯ

๏ เจียม

แข่งเรือพายแข่งได้    ดูดี
แข่งซึ่งบุญบารมี       อย่าไซร้
ขืนอวดแข่งอัปรีย์      หมดท่า
จงงดเจียมจิตไว้      หัดรู้ฟ้าดิน

เคยกินข้าวร่วมหม้อ    ทัพพี
เขาอาจได้ดิบดี       สุขไซร้
เรากลับหมดราศี      ตกต่ำ
บุญเท่านั้นจำไว้       เครื่องชี้วาสนา ฯ

๏ วาดหวัง

ควรลดหวัง ตั้งใจ ไว้แค่ครึ่ง
อย่าให้ถึง หลักร้อย ต้องน้อยไว้
เดี๋ยวผิดคาด พลาดเป้า จะเศร้าใจ
อย่าวาดไว้ หวังว่า เดี๋ยวบ้าตาย

ต้องห้าสิบ ห้าสิบ หยิบบางส่วน
อย่ารีบด่วน เชื่อมั่น เดี๋ยวฝันสลาย
อย่าหวังมาก ฝากเตือน เพื่อนหญิงชาย
โลกวุ่นวาย เพราะว่า บ้าหวังกัน ฯ

๏ คำอำลา

พบเพื่อพราก
จากลาเพื่อทรงจำ
ทำพูดคิดด้วยมิตรไมตรี
ไม่มีการเลี้ยงใดที่ไม่ใช้อาหาร
ไม่มีการพบพานใดที่ไม่มีการจากลา
จากเป็นก็ยังมีโอกาสได้เห็นหน้า
จากตายก็ยังมีวาสนาได้ชมเชย
ถ้าหากเคยได้ปลูกดอกไม้ร่วมต้น
สร้างกุศลร่วมกัน
ตักบาตรร่วมขัน
จงเก็บรสแห่งมิตรไมตรีอันดีงามสว่างไสว
เพื่อเป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

๏ ตื่น

มัวไขว่คว้า บ้าไป ทำไมนัก
มัวหลงรัก ปักใจ ทำไมหนอ
มัวอยากดี อยากเด่น ไม่เห็นพอ
มัวเฝ้ารอ ทอฝัน กันทำไม

อันความจริง ว่างเปล่า เขาสมมติ
จงรีบหยุด โหยหา อย่าหลงใหล
อย่าตื่นเต้น เห็นผิด คิดเขลาไป
อย่าอะไร กับอะไร ให้เสียคน ฯ

๏ สัจจธรรม

เติม ไม่มีเต็ม คือ ความโลภ
ร้อน ไม่มีเย็น คือ ความโกรธ
มืด ไม่มีสว่าง คือ ความหลง
สุข ไม่มีทุกข์ คือ พระนิพพาน

๏ ระวัง

ทำไม่คิด ผิดได้ ขายความเขลา
พูดว่าเขา ไม่คิด ผิดมหันต์
โทษนั่นนี่ สารพัด ชอบกัดกัน
เอาแค่ฉัน พอใจ จัญไรคน

เรื่องดีๆ มีค่า กลับว่าร้าย
เรื่องเสียหาย บูชา น่าฉงน
เรื่องต่ำทราม ชอบยุ่ง มุ่งสาละวน
เรื่องของตน ไม่ทำ กรรมของใคร ฯ

๏ หน้าที่

จะสอนธรรม นำสัตว์โลก พ้นโศกเศร้า
จะดับเหงา คู่เคียงใจ ไม่หลบหนี
จะมอบใจ ให้ใกล้ชิด มิตรไมตรี
จะคอยชี้ พูดบอกใบ้ ให้คิดเป็น

จะตอกย้ำ พร่ำเตือนใจ ให้ฉุกคิด
จะสะกิด ว่าควรตรอง ให้มองเห็น
จะดุด่า ว่ากล่าว ทุกเช้าเย็น
เพื่อจิตเห็น  สัจธรรม ไว้นำทาง ฯ

๏ อานิสงส์ และอานุภาพแห่งปัญญาภาวนา

๑.ช่วยแก้ปัญหา ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น
๒.ช่วยระวังไม่ให้ปัญหา ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น
๓.ช่วยควบคุมความคิด การกระทำ และคำพูด
๔.ช่วยให้รู้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูด
อะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรควรคิด ไม่ควรคิด
๕.ช่วยให้รู้จักบาป บุญ คุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์
๖.ช่วยให้พบความสำเร็จในสิ่งที่ลงมือทำ
๗.ช่วยให้มองเห็นความสุขได้ง่ายขึ้น
๘.ช่วยให้ลดหูชูหาง ลดมานะทิฏฐิ ลดอัตตาตัวตน
๙.ช่วยให้สงบเย็นเป็นประโยชน์
๑๐.ช่วยให้ลดความเห็นแก่ตัว
๑๑.ช่วยให้เป็นคนดีของโลก ของสังคม
๑๒.ช่วยให้ลดความดื้อ เป็นคนว่านอนสอนง่าย
๑๓.ช่วยให้ลดความโง่เขลา เบาปัญญา ตามืดตามัว
๑๔.ช่วยให้ปรับเปลี่ยนนิสัย สันดาน ทัศนคติ
๑๕.ช่วยให้เข้าใจสัจธรรมความจริงของโลก ของชีวิต
๑๖.ช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ จากกิเลส

๏ ความคิด

คนส่วนมากมักหลงคิดไปว่า…

ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ถ้ามีสิ่งนั้น ถ้าได้สิ่งนี้
ถ้าไม่เจอเหตุการณ์เช่นนี้
คงดี ฉันคงมีความสุขมากมาย
จำไว้
เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่มีใครได้ดั่งใจหรอก
ไม่มีชีวิตใครลงตัว สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

ขาดๆเขินๆ ได้อย่างเสียอย่างกันทั้งนั้น

พึงปรับใจให้เห็นเป็นปกติธรรมดาโลก
แค่ไหนแค่นั้น ดีที่สุด

ปรับใจไม่ได้ ปรับใจไม่เป็น
ก็จงทุกข์ทุกภพทุกชาติต่อไป ฯ

๏ รักเขาข้างเดียว

อันว่าเรือนร่างนี้               บ้านเช่า
อย่าคิดเขลาว่าเรา             กอดไว้
แค่สามหมื่นวันเฝ้า              พักอยู่
เมื่อครบกำหนดไซร้             ต่างทิ้งอำลา ฯ

แม้ว่าเฝ้าหล่อเลี้ยง             บำเรอ
ทั้งหยูกยาเลิศเลอ              ช่วยไว้
อาหารเสพปรนเปรอ            เช้าค่ำ
รักอยู่ข้างเดียวไซร้             เช่นนี้สัจธรรม ฯ

๏ อย่า

อย่าปรุงแต่ง แข่งขัน ให้มันยุ่ง
อย่าคิดฟุ้ง ยุ่งใจ ทำไมหนอ
อย่าเพ้อฝัน โหยหา ตั้งตารอ
อย่าเที่ยวขอ ง้อใคร ให้ป่วยการ

อย่าเรียกร้อง บ่นเพ้อ ละเมอหา
อย่าไขว่คว้า บ้าไป ไร้แก่นสาร
อยู่เงียบๆ เรียบง่าย สบายนาน
อย่าลนลาน ไล่ล่า ปัญหาใจ ฯ

๏ จบที่ใจ

ยามค่ำคืน เดือนดับ นับดาวได้
เห็นเรียงราย เต็มฟ้า เงยหน้าเห็น
ยามตกต่ำ ลำบาก ใช่ยากเย็น
อาจเปลี่ยนเป็น สุขได้ สบายใจ

รู้สึกตัว ทั่วพร้อม ซ้อมให้มาก
เจอเรื่องยาก ผ่านได้ หายสงสัย
เจอทุกข์หนัก หักหลบ จบที่ใจ
ปล่อยมันไป ไม่ฟุ้ง หมดยุ่งเอย ฯ

๏ บทพิจารณาในยามพญาทุกข์เหยียบหัวใจ

หายใจเข้าออกเบาๆ ปรับลมหายใจให้ปกติ
ปรับลมหายใจให้เป็นธรรมชาติ
ลืมตากว้างๆ มองไปให้ไกลๆ
ฝืนยิ้ม สูดลมหายใจแรงๆยาวๆ
กลั้นลมหายใจไว้
ค่อยๆปล่อยลมหายออกทางปากเบาๆ
รับรู้ความเบาหนักของลม
ทำสัก ๒-๓ ครั้ง แล้วหลับตาลงเบาๆ

แล้วลืมตาพิจารณาความจริงว่า…
ในที่สุด…มันก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว
ในที่สุด…มันก็ไม่ได้เอาอะไรไปอยู่แล้ว
ในที่สุด…..มันก็แค่นั้นเอง
ในที่สุด…..ทุกชีวิตก็ต่างละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป

แล้วกลับมาดูลมหายใจสุดท้าย
ทำลมหายใจสุดท้ายให้บริสุทธิ์
ให้เบาสบาย ให้โล่ง ให้สดชื่น
อย่าให้มีความเศร้าหมองเจือปน
พร้อมกับสร้างความรู้สึกตัว
ทำจิตใจให้เบิกบาน ดั่งดอกไม้บาน

ไม่อะไรกับอะไร ไม่เป็นอะไรกับอะไรๆในโลกนี้
เห็นทุกสิ่งว่างเปล่าจากความหมาย
ทำความรู้สึกให้วางลง ไม่แบก ไม่ยึดมั่น ถือมั่น
รู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน
อยู่กับกายหยาบ อยู่กับการเคลื่อนไหว
อยู่กับลมหายใจสุดท้าย อยู่กับความจริง
ทั้งที่เป็นสมมติ และสัจธรรม
ไม่มีผู้เป็น ไม่มีผู้ทุกข์ ไม่มีผู้สุข

ต่างคนต่างยึดมั่น ถือมั่น เอาเป็น เอาตาย
กับความว่างเปล่า และสิ่งชั่วคราวทั้งนั้น
รู้ทิ้ง รู้ทิ้ง รู้ทิ้ง ช่างมัน ช่างมัน ช่างมัน

ทุกปัญหาล้วนมีคำตอบ
คำตอบที่ดีที่สุด คือ ตอบด้วยการรู้สึกตัว
รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ

จงรีบกลับมา กลับมาอยู่ที่ลมหายใจสุดท้าย
อยู่ให้นิ่งที่สุด สงบที่สุด อย่าหวั่นไหว อย่ากลัว

อยู่กับหนึ่งลมหายใจ อยู่กับหนึ่งลมสุดท้ายไปเรื่อยๆ

อย่าเข้าไปในความคิด อย่าเป็นผู้คิด
ให้เห็นผู้คิด แอบเห็นผู้คิด แล้วจงปล่อยมัน วางมัน
มันไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่มัน ไม่มีเขา ไม่มีเรา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง ฯ

๏ ความเครียด

ความเครียด
ทำลายความสุขในชีวิตเจ้าตัวด้วย
และทำลายความสุขในชีวิตคนใกล้ตัวด้วย

คนชอบเครียด คือ เป็นคนที่ทำให้โลกเสียบรรยากาศ
คนเครียดง่าย คือ คนที่หาความสงบสุขไม่เจอ
คนเครียดง่าย คือ คนที่น่าสงสารที่สุด
คนเครียดง่าย คือ คนที่มีวิบากกรรมหนัก
สรุปยังไม่พบวิธีแก้ไข ช่วยเหลือเขาได้
นอกจากจะปล่อยไปตามเวรตามกรรม
จนกว่าเขาจะสามารถ “รู้สึกตัว”เป็น ฯ

๏ หลักการทำบุญ

ทำให้หมดตัว
ทำแล้วให้กลัวบาป
ทำแบบไม่หาบบุญ
ทำแล้วอย่าให้ขาดทุน
ทำบุญอย่าเมาบุญ หลงบุญ ฯ

๑.ทำให้หมดตัว
(หมดตัวตน ไม่มีฉันทำ กูทำ ฉันดี กูดี)

๒.ทำแล้วให้กลัวบาป
(ทำบุญแล้วต้องเว้นบาป กลัวบาป เห็นโทษของบาป)

๓.ทำแบบไม่หาบบุญ
(อย่าแบกบุญ อย่าทุกข์ใจเพราะการทำบุญ
บุญเป็นเรื่องสั่งสม ไม่ใช่ทำมากทำน้อย)

๔.ทำแล้วอย่าให้ขาดทุน
(บุญที่ทำแต่ละครั้งต้องได้กำไรบุญ ๕ ประการ คือ
๑. ปราโมทย์ ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส
๒. ปีติ ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ
๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ, ความผ่อนคลายรื่นสบาย
๔. สุข ความรื่นใจไร้ความข้องขัด
๕. สมาธิ ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย

๖.ทำบุญอย่าเมาบุญ หลงบุญ
(ทำบุญจนเป็นเหตุให้ตนเอง และบุคคลอื่นเดือดร้อน)

๏ ชีวิต

เมื่อไม่มีเวลาให้กับความดี
เมื่อไม่มีเวลาให้กับความสงบ
เมื่อไม่มีเวลาให้กับความรู้สึกตัว
เมื่อไม่มีเวลาให้กับความคิดดีๆ
เมื่อไม่มีเวลาให้กับพระธรรม
เมื่อไม่มีเวลาให้กับความจริง
เมื่อไม่รู้จักการโสทิ้ง
เวลาทั้งชีวิตก็หมดความหมาย ฯ

๏ คาถามหาปัญญา

“ไม่อะไรกับอะไร” ท่องจำไว้
จนขึ้นใจ ฝังจิต ติดสมอง
ใช้เสกข้าว เสกน้ำ ยามลิ้มลอง
จนสมอง สิ้นเขลา เลิกเมามัว

ถ้า”อะไรกับอะไร” ก็ใกล้บ้า
ต่างไขว่คว้า หาเหา เอาใส่หัว
ต่างจับจอง สิ่งทั้งผอง เป็นของตัว
จนหวาดกลัว วุ่นวาย ตายทั้งเป็น ฯ

๏ ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง

๑.คนเรามันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ต้องพลัดพราก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

๒.จะหวงแหนแสนเสียดายมากแค่ไหนก็ตาม
ในที่สุดก็ต้องต่างคนต่างไป เราไม่จากเขา เขาก็จากเรา

ไม่จากเป็น ก็จากตาย ไม่วันนี้ ก็พรุ่งนี้

๓.สายเลือด หรือ คนแปลกหน้า
จะมีค่าต่อเมื่อมีน้ำใจมิตรไมตรี และซื่อสัตย์ต่อกัน

๔.ไขว่คว้า โหยหา เรียกร้อง พอได้มาก็แค่นั้น

๕.หน้าที่ คือ คุณภาพคน คุณภาพของชีวิต
ชีวิตคนที่มีคุณภาพ คือ ชีวิตที่มีการรับผิดชอบต่อหน้าที่

๖.กาลเวลา คือ เครื่องมืออันวิเศษที่มีไว้ เพื่อพิสูจน์สติปัญญาคน

๗.พ่อแม่ คือ ผู้ที่มีพระคุณสูงสุด เรื่องนี้รู้ได้เฉพาะลูกบางคน
เท่านั้น จะไม่สาธารณะทั่วไป

๘.กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว ชีวิตนี้ประมาทไม่ได้
ควรมีสติประคองปัญญาไว้

๙.ความอดทนด้วยปัญญาเท่านั้น ที่จะทำให้มีชีวิตในวันพรุ่งนี้ที่งดงาม

๑๐.กฏเกณฑ์โลก กฏเกณฑ์ใจ บางครั้งก็ควรมีการยืดหยุ่น
ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ให้มันพอดี

๑๑.ขัดหู ขัดตา ต้นเหตุอยู่ที่ใจเรา ใจเราที่ยังไม่ได้พัฒนาให้ดีพอ
ที่จะรอได้ คอยได้ อดได้ ทนได้ สงบได้ เย็นได้ ปล่อยได้ วางได้

๑๒.โลกส่วนโลก เขาส่วนเขา เราส่วนเรา
บางครั้งต้องแยกแยะ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและจิตใจ
ชีวิตจะได้อยู่เย็นเป็นสุข

๑๓.อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะเป็นของเราก็ต้องเป็นของเรา
เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ดี ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ได้ แค่ไหนแค่นั้น

๑๔.ความอิจฉาริษยาจะเบาบางก็ต่อเมื่อ
มีความเข้าใจในธรรมชาติเขา ธรรมชาติเรา
ความสุขเขา ความสุขเรา ชีวิตแต่ละชีวิตมีคุณภาพต่างกัน

๑๕.ธรรมชาติต่างทำหน้าที่ของธรรมชาติ
มนุษย์ทุกชีวิตก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ และจะต้องทำตามสมมติให้ถูกต้อง
สัจธรรมความจริงก็ต้องรับรู้ และยอมรับ

๑๖.กรรมใครก็กรรมมัน ใครทำดีก็ดี ใครทำชั่วก็ชั่ว

๑๗.ทุกข์ล้วนมีเหตุปัจจัย สุขก็มีเหตุปัจจัยเช่นกัน

๑๘.เก่งจริง รู้จริง ต้องมีปัญญาดับทุกข์ได้

ต้องทำให้ตนเอง และคนอื่นมีความสุขได้
ไม่เก่ง ไม่รู้ก็ต้องฝึกหัดพัฒนาตน มนุษย์จะประเสริฐได้อยู่ที่การฝึก

๑๙.วางบ้าง ปลงบ้าง ก็ไม่เลว
อย่าไปอะไรกับอะไรให้มากนัก
สมองจะได้ว่าง และสามารถคิดเรื่องดีๆได้
ชีวิตจะได้สงบเย็นเป็นประโยชน์ ฯ

๏ สติ

สติอยู่ไหน ใจอยู่นั้น
อย่าทำใจให้อนาถา ไร้สติเป็นที่พึ่ง

กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว

อย่าปล่อยวันเวลา และลมหายใจทิ้งเปล่า
จงเฝ้าตื่นรู้ ตื่นดู ตื่นวาง ตื่นทิ้ง
เพื่อออกจากความทุกข์ ฯ

อ่านต่อ หน้า ๓