๑.ควรกำหนดจิตก่อนไปว่า “การไปวัดในครั้งนี้ ในวันนี้จะต้องเกิดบุญ เกิดปัญญา
เกิดความมหัศจรรย์ เปลี่ยนจิต เปลี่ยนชีวิต ของเราอย่างมากมาย”
๒.ควรโทรศัพท์ไปนัดหมายแจ้งวันเวลา ให้ทางวัดได้ทราบก่อน อย่างน้อย ๒-๓ วัน
เพื่อความสะดวกในการจัดตารางวันเวลา และการต้อนรับให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น
๓.ทุกครั้งที่ไปวัดหากสะดวก ควรจัดหาดอกไม้ธูปเทียน
หรือผลไม้เพื่อไปไหว้สักการะบูชาพระพุทธรูปพระประธานในวัด
ดอกไม้ควรตรวจดูให้ดี เลือกดอกไม้ที่สดสวยสะอาด
ไม่นิยมดอกไม้มีหนาม ดอกไม้พาสติก
๔.ต้องแต่งตัวให้ดูเรียบร้อย เสื้อผ้าที่ใส่ควรเป็นเสื้อผ้าที่มีสีสันที่ไม่ฉูดฉาด
บาดตาบาดใจรัดรูปเกินไป หากเป็นสีขาวบริสุทธิ์ยิ่งดี
เพื่อไม่เป็นที่ตำหนิของเทวดาฟ้าดินและผู้มีศีลมีธรรม
๕.เมื่อไปถึงวัดแล้ว ควรระมัดระวังการพูดจา ไม่ควรส่งเสียงดัง ใช้แต่วาจาที่สุภาพ
เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ ไม่ควรคุยหยอกล่อ เล่นหัว แบบไม่เคารพ
แบบกันเองกับพระเจ้าพระสงฆ์
๖.ต้องเข้าไปกราบพระพุทธรูป ถวายเครื่องสักการะบูชาที่ได้เตรียมมาแล้ว
และไหว้พระสวดมนต์ เท่าที่สวดได้ นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบตามสมควร
ก่อนพบพระสงฆ์
๗.ไม่ควรนำวัตถุสิ่งของที่ตนเองใช้แล้วชำรุดแล้ว เลิกใช้แล้ว
ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว นำไปถวายให้เป็นสมบัติของพระศาสนา
จะทำให้เกิดมีบาปมีกรรมติดตัวไป เกิดภพใดชาติใดจะได้แต่ของเก่า
ของที่ไม่ปราณีตทุกภพทุกชาติไป
๘.การสนทนาธรรมหรือการปรึกษากับพระเจ้าพระสงฆ์
ควรใช้เวลาให้เหมาะให้สม และควรดูด้วยว่า
ได้เวลาพระสงฆ์ท่านต้องทำกิจวัตรแล้วหรือยัง
๙.เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนา พระสวดมนต์ พระแสดงธรรม
ควรปิดโทรศัพท์ งดการพูดคุยกัน ตั้งใจฟังโดยความเคารพอย่างแท้จริง
๑๐.เมื่อเสร็จธุระ ควรกราบลาพระพุทธรูป หรือพระประธานภายในวัด
และกราบลาพระสงฆ์ภายในวัดก่อนกลับทุกครั้งไป.
หมายเหตุ..
๑.การไปถวายเพล ควรไปก่อนเวลาอย่างน้อย ๓๐ นาที ก่อนเวลาฉันเพลของพระคือ
เวลา ๑๑.๐๐ น. และควรสอบถามเส้นทางให้ชัดเจนก่อนไปทุกครั้ง
๒.การไปวัด คือ การไปสร้างบุญ ไปศึกษาธรรมะ เพราะฉะนั้นก่อนไปวัดทุกครั้ง
ควรตั้งใจว่า “เราจะไปศึกษาเรียนรู้ธรรมะจากพระ
จะไปเอาบุญเอากุศลให้แก่ตัวเองและครอบครัว
จะไม่ไปเอาบาป เอากรรมไม่ดีกลับมา”
๓.ไปวัดทุกครั้งควรหาเวลาให้เป็นวันว่างของตน
เพื่อจะได้มีโอกาสได้ฟังธรรม และนั่งสมาธิภาวนา
๔.ข้อปฏิบัติทั้งหมดที่ได้แนะนำนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ท่าน
และครอบครัววงค์ตระกูล ตลอดถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
คำถามที่ถามกันบ่อยๆ เกี่ยวกับการถวายสังฆทาน
ในการถวายสังฆทานนั้น อะไรควรถวาย? อะไรไม่ควรถวาย?
การถวายสังฆทาน ไม่ใช่ การถวายถังเหลือง
และ การทำบุญ ไม่ใช่ การถวายสังฆทาน เท่านั้น
การทำบุญทำได้หลายวิธี
ทั้งการให้ทาน (ให้วัตถุ ให้คำสอน ให้คำแนะนำ ให้ธรรมะ ให้เวลากับพ่อแม่ ให้อภัย)
การรักษาศีล (ไม่เบียดเบียนทำร้ายสัตว์, ไม่ลักขโมยฉ้อโกง, ไม่ประพฤติผิดในกาม,
ไม่พูดโกหก เพ้อเจ้อ ส่อเสียด หยาบคาย, ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาเสพติด)
และการภาวนา (พัฒนาจิตใจและปัญญา ด้วยการศึกษา สนทนาธรรม
รักษาใจให้ผ่องแผ้ว สดใส พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริง)
แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ต้องการทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน
ก็ควรให้อย่างสัตบุรุษ คือยึดหลักธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสทาน ๘ ได้แก่
(๑) ให้ของสะอาด : เลือกสิ่งที่บริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต
(๒) ให้ของประณีต : ให้ของที่ดี ตามกำลังศรัทธา อย่างรู้จักประมาณ
(๓) ให้ถูกเวลา : เช่นถวายภัตตาหารพระก่อนเวลาเพลเท่านั้น
ถ้าจะถวายหลังเวลาเที่ยงไปแล้วก็อาจจะถวายเครื่องไทยธรรม
ดอกไม้ธูปเทียน น้ำปานะต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อพระวินัย เป็นต้น
(๔) ให้ของที่สมควรแก่ผู้รับจะนำไปใช้ได้ : เช่นถ้าจะถวายสังฆทาน
ก็ควรถวายของที่สมควรแก่พระ ไม่ใช่สุรา ยาเสพติด เครื่องประดับตกแต่ง
บางคนคิดว่าจะถวายสังฆทานอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ
ก็ต้องนำของที่ผู้ล่วงลับชอบใจหรือใช้อยู่เป็นประจำมาถวายพระ
นี่เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะของเหล่านั้นถวายแก่พระ
ไม่ใช่การทำพิธีให้ของนั้นล่องลอยไปสู่ผู้ล่วงลับ
บุญเกิดจากการให้ มิใช่อยู่ที่ตัวสิ่งของ
(๕) ให้ด้วยวิจารณญาณ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก :
ของที่จะให้เป็นทานจะมีราคาสูงหรือ ต่ำไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่ควรเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การจัดหาของน้อยชิ้นที่ใช้งานได้
อาจจะดีกว่าการจัดของสารพัดอย่างลงในถังให้ดูครบครันแต่นำมาใช้
หรือแม้แต่จะจัดเก็บก็ยากลำบาก
(๖) ให้ประจำสม่ำเสมอ
(๗) เมื่อให้ ทำจิตให้ผ่องใส
(๘) ให้แล้ว เบิกบานใจ : ไม่คิดกังวลว่าผู้รับจำใช้หรือไม่
จะยินดีแค่ไหน เมื่อให้ไปแล้วก็ไม่ยึดถือเป็นของเรา ตัวเราต่อไปอีก
เมื่อทำได้ดังนี้ หรือฝึกฝนที่จะทำเช่นนี้ ก็ชื่อว่าได้ให้อย่างผู้มีปัญญา
เป็นการให้ที่มีประโยชน์ มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ใหญ่
น่าอนุโมทนาชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง